ผู้เข้าชม
0
9 กันยายน 2567

ข้อความจารึกบรรทัดที่ ๑ ระบุ ค.ศ. ๑๙๐๖ และ จ.ศ. ๑๒๖๘ ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๔๙ ซึ่งตรงกับสมัยที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ปกครองราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. ๒๔๑๑ – ๒๔๖๓) เนื้อหาโดยสังเขปได้กล่าวถึงการกระทำสัตยาธิษฐานปักปันเขตแดนกันระหว่างอาณาจักรล้านช้าง และกรุงศรีอยุธยา โดยให้มหาอุปราชและเสนาอำมาตย์ตลอดจนพระสงฆ์ผู้ใหญ่ของทั้งสองอาณาจักรได้มาทำการแทนองค์พระมหากษัตริย์ทั้งสองอาณาจักร และสร้างพระเจดีย์ศรีสองรักไว้เป็นสักขีพยานในการทำสัตยาธิษฐานในครั้งนั้น

หลุยส์ ฟิโนต์ นักโบราณคดีฝรั่งเศสและนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญในวัฒนธรรมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อดีตผู้อำนวยการ Ecole française d'Extrême-Orient ได้ข้อสรุปว่า จารึกด่านซ้าย เป็นสัญญาที่ฝ่ายกรุงศรีอโยธยาและกรุงศรีศัตนาคนหุตทําขึ้นเพื่อเชื่อมผูกไมตรีกันและปักปันเขตแดนกันจึงถือเป็น ‘หลักด่าน’ (ศัพท์ที่ใช้ในจารึกบนใบลาน)

จารึกพระธาตุศรีสองรักไม่เพียงแต่เป็นเอกสารสำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์สยามกับลาว แต่อยู่ในสถานภาพพิเศษเพราะเป็นจารึกหลักเดียวของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่บันทึกการทำสัญญาสัมพันธไมตรีระหว่างสองราชอาณาจักร ซึ่งต้องทำความเข้าใจในบริบทความสัมพันธ์สยาม-ลาว-พม่า ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ (หรือต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๒) แม้สาระของจารึกนี้เป็นเรื่องการเมือง แต่ก็ให้ข้อมูลร่วมสมัยด้านวัฒนธรรมและคติความเชื่อที่ไม่อาจหาได้จากที่อื่น เช่น การกระทำสัจปฏิญาณระหว่างพระมหากษัตริย์ของสองแผ่นดิน เป็นต้น ในแง่ประวัติศาสตร์นิพนธ์ จารึกที่มีเนื้อความกระท่อนกระแท่นนี้ ได้ให้โจทย์ที่ท้าทายนักอ่านจารึกและนักประวัติศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง

เพราะฉะนั้น พระธาตุศรีสองรัก ที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย จึงเป็นสถานที่หนึ่งที่ได้รับการกำหนดให้มีความหมายที่แตกต่างหลากหลาย สถานที่แห่งนี้เป็นทั้งสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนาและระบบความเชื่อเรื่องผีวิญญาณของชาวบ้าน เป็นทั้งสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือเป็นทั้งสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัด ขอบเขตแรงศรัทธาของชาวบ้านที่มีต่อพระธาตุศรีสองรักนี้ครอบคลุมพื้นที่ซึ่งอยู่แวดล้อมด่านซ้ายอย่างกว้างขวาง นับตั้งแต่พื้นที่อำเภอวังทอง อำเภอนครไทย อำเภอชาติการ จังหวัดพิษณุโลก / อำเภอหล่มเก่า อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ / อำเภอเมือง อำเภอภูเรือ อำเภอท่าลี่ อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย

แรกเริ่มพระธาตุศรีสองรักถูกนิยามความหมายให้เป็นสัญลักษณ์แสดงขอบเขตพระราชอำนาจของอาณาจักรอยุธยาและล้านช้าง ขณะเดียวกันก็มีความหมายแห่งการเป็นศูนย์กลางของเมือง หรือ ‘หลักบ้านใจเมือง’ หลอมรวมผู้คนในเมืองให้เป็นหนึ่งภายใต้ระบบความเชื่อเดียวกัน ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการศึกษาของ ดร. เอเดรียน สนอดกราส (Adrian Snodgrass) สถาปนิกและนักวิชาการชาวออสเตรเลียในด้านพุทธศึกษาและพุทธศิลป์ เขาได้พัฒนาทฤษฎีในสาขาปรัชญาอรรถศาสตร์และการประยุกต์เพื่อการผลิตความรู้และความเข้าใจข้ามวัฒนธรรม และความรู้เชิงมานุษยวิทยาทางภูมิวัฒนธรรมของอาจารย์  ศรีศักร วัลลิโภดม 

ทว่า ความหมายของพระธาตุศรีสองรักไม่ได้หยุดนิ่ง แต่เลื่อนไหลจากการเป็นพุทธสถานในการนิยามของชนชั้นปกครอง มาสู่สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อและระบบคุณค่าของชาวบ้าน ขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่ซึ่งเปิดโอกาสให้แก่การสร้างความหมายใหม่ๆ ตามเงื่อนไขและยุคสมัยที่เปลี่ยนไปได้โดยตลอด

ฉะนั้นการสร้างพระธาตุศรีสองรักขึ้น จึงเป็นเครื่องมือหรืออุดมการณ์ อย่างหนึ่งที่ผู้ปกครองใช้ครอบงำผู้ใต้ปกครองให้สยบยอมอยู่ภายใต้อำนาจนั่นเอง ดังจะเห็นได้จากข้อความตามจารึกซึ่งพบที่พระธาตุศรีสองรักที่บ่งบอกว่า ทั้งผู้ปกครองอยุธยาและล้านช้างต่างพยายามแสดงให้ผู้ใต้ปกครองเห็นว่าตนคือกษัตริย์ที่ดี เป็นกษัตริย์ที่เปี่ยมล้นด้วยศรัทธาในพระศาสนา โดยอุทิศทั้งผู้คนและทรัพย์ศฤงคารในการสร้างพระธาตุศรีสองรัก