การสืบเนื่องศรัทธาที่ถ่ายทอดกันมาจากโบราณกาลรุ่นต่อรุ่นจนถึงปัจจุบัน ‘ประเพณีนมัสการพระพุทธบาทบัวบก : พัฒนาการประเพณี พิธีกรรม สู่มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของจังหวัดอุดรธานี’ งานวิจัยโดย ไกรฤกษ์ ศิลาคม, ธัชวรรธน์ หนูแก้ว, สุพัฒน์ ศรีชมชื่น คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ซึ่งได้ศึกษาพัฒนาการของงานประเพณีนมัสการพระพุทธบาทบัวบก ผ่านพิธีกรรมและความเชื่อเพื่อหาคุณค่าทางวัฒนธรรมของประเพณี โดยวิธีการวิจัยใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพ จากการศึกษาจากเอกสาร การสังเกตแบบมีส่วนร่วม และการสัมภาษณ์เชิงลึก ผลการวิจัย พบว่า
‘ ...ภูพระบาทเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาและความเชื่อมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ต่อเนื่องมาถึงยุควัฒนธรรมทวารวดี วัฒนธรรมขอม และวัฒนธรรมล้านช้าง พระพุทธบาทบัวบก เป็นรอยพระพุทธบาทที่ประดิษฐานอยู่บนไหล่เขาภูพระบาท เดิมมีการก่อมณฑปครอบรอยพระพุทธบาทไว้ ต่อมาประมาณปี พ.ศ. ๒๔๖๕ พระอาจารย์สีทัตถ์ สุวรรณมาโจ ได้รื้อมณฑปเก่าออกแล้วสร้างพระธาตุขึ้นใหม่ หลังการสร้างเสร็จเรียบร้อยได้จัดให้มีการทำบุญเพื่อเฉลิมฉลองสมโภชองค์พระธาตุและได้มีการสืบทอดงานดังกล่าวเป็นประเพณีประจำปีของวัดและได้พัฒนามาเป็นงานประเพณีนมัสการปิดทองรอยพระพุทธบาทในปัจจุบัน
โดยมีพิธีกรรมเกี่ยวกับรอยพระพุทธบาท และตำนานพญามิลินทนาค ถือเป็นงานประเพณีประจำปีของวัดและของชุมชนที่มีมายาวนานเกือบ ๑๐๐ ปี ซึ่งมีความสำคัญต่อการสืบสานพระพุทธศาสนาในท้องถิ่น พุทธศาสนิกชนและชุมชนโดยรอบภูพระบาทมีบทบาทสำคัญที่ช่วยให้ประเพณีนี้สืบสานมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ชุมชนยังมีส่วนสำคัญต่อการรักษาอัตลักษณ์ของงานบุญประเพณีควบคู่ไปกับการรักษาตำนานอุษา-บารส และการรักษาธรรมชาติสิ่งแวดล้อมในอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทด้วย ถือเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ใกล้จะสูญหายไปจากสังคม สมควรอย่างยิ่งที่รัฐและท้องถิ่นต้องร่วมกันส่งเสริม สืบสาน และอนุรักษ์ให้ต่อเนื่องไปถึงยังอนุชนรุ่นหลัง... ’
สำหรับภาพรวมของหลักฐานทางโบราณคดีทั้งหมด วิทยานิพนธ์ ‘การวิเคราะห์การใช้พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อําเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี: จากหลักฐานทางโบราณคดี’ โดย พิทักษ์-ชัย จัตุชัย ซึ่งเป็นการค้นคว้าอิสระ ส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ ภาควิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีการศึกษา ๒๕๕๓ ซึ่งศึกษาและวิเคราะห์การใช้พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อําเภอ บ้านผือ จังหวัดอุดรธานี โดยทําการศึกษาจากการสํารวจเพิงหิน แหล่งภาพเขียนสีและโบราณสถานในบริเวณเทือกเขาภูพระบาท ทั้งนี้เพื่อต้องการทราบถึงร่องรอยของการอยู่อาศัยและการใช้พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาและความเชื่อ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท