เนื้อเรื่องในตำนานอุสา-บารส อ้างอิงสถานที่ตั้งแต่บ้านเมืองพานในเขตภูพานต้นน้ำโมง กล่าวถึงเมืองพาน เมืองปะโค เวียงงัว ภูกูเวียน ฯลฯ เป็นชาดกนอกพระสูตรที่ใช้สถานที่ตามท้องถิ่นต่างๆ อ้างอิงถึง ซึ่งเป็นอิทธิพลการเล่าเรื่องตามขนบในพุทธศาสนาเถรวาทในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑ ลงมา หลังรัชกาลพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒ เป็นช่วงที่บ้านเมืองทางฝั่งลาวมีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ผู้คนโยกย้ายเข้ามาทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขงในดินแดนอีสานจำนวนมากเป็น ระลอกๆ
บ้านเมืองทางฝั่งซ้ายแยกออกเป็นสามแคว้นคือ หลวงพระบาง เวียงจันทน์ และจำปาสัก ผู้คนที่ข้ามมาอยู่ทางนี้ผสมผสานกับผู้คนแต่เดิมและมีตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับพญานาค ตำนานพระเจ้าเลียบโลกที่เป็นตำนานพระธาตุต่างๆ และตำนานชาดกที่ผูกพันกับชื่อสถานที่ในท้องถิ่นต่างๆ ถือได้ว่าเป็นวัฒนธรรมความเชื่อและประเพณีแบบลาวล้านช้างที่แพร่หลายอยู่ทั้งสองฝั่งโขงจนถึงปัจจุบัน
ชาวบ้านในท้องถิ่นเมืองพาน แม้ไม่สามารถสืบต่อถึงความหมายและความสำคัญของอรัญวาสีสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในสองฝั่งโขงตกทอดต่อเนื่องมาได้ แต่ก็ยังคงให้ความสำคัญแก่รอยพระพุทธบาทบนภูเขาและตำนานเรื่องรูนาคตามธรรมเนียมการเล่าเรื่องพระเจ้าเลียบโลก และถือเอางานนมัสการรอยพระพุทธบาทสามสี่แห่งในเทือกเขาภูพานในละแวกเมืองพาน ให้เป็นงานประจำปีประจำท้องถิ่นที่สำคัญ เริ่มที่พระบาทบัวบานก่อน เพราะถือว่าเป็นพระบาทพี่ในเดือนสามแล้วจึงมีงานนมัสการพระบาทบัวบกและพระบาทหลังเต่าที่อยู่ใกล้เคียงกันในเดือนสี่
เมื่อกรมศิลปากรเข้ามากำหนดพื้นที่เป็นอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ทำให้คนทั่วไปไม่ทราบถึงความหมายของพระบาททั้งสองแห่งที่เรียกชื่อคู่กันมา คือ พระบาทบัวบาน พระบาทบัวบก รวมถึงพระบาทอีกสองสามแห่งในบริเวณใกล้เคียงกัน แต่ไปกำหนดเอาบริเวณพระบาทบัวบกที่มีกลุ่มอาคารศาสนสถานตามธรรมชาติที่สัมพันธ์กับตำนานเรื่องอุสา-บารส แล้วตั้งชื่อว่า ‘อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท’
ทั้งชื่อและความหมายจึงปรับเปลี่ยนไปตามการท่องเที่ยวที่เห็นบางจุดและเน้นบางแห่งเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวมากกว่าที่จะเห็นเรื่องราวและความสำคัญของศาสนสถานจากภาพรวมทั้งหมดในท้องถิ่น และคงไม่ต้องคิดไปไกลถึงเรื่องอารามในป่าอันเป็นมหาวนาสีบนภูพานที่คนรุ่นปัจจุบันหมดความเข้าใจและทิ้งการสืบต่อไปเพื่อค้นหาความหมายไปเนิ่นนานแล้ว... ’
รอยพระพุทธบาทหลังเต่า มีการจัดงานนัสการบูชาในเดือนสี่
(ที่มา: เฟสบุ๊กอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท)