ผู้เข้าชม
0
9 กันยายน 2567

‘…ข้าพเจ้าได้รับการศึกษาอบรมมาในวิชามานุษยวิทยาที่เน้นความสำคัญของศาสนากับสังคมมากกว่าการมองศาสนาลักษณะที่เป็นปรัชญาซึ่งหยุดนิ่ง แต่ถ้ามองศาสนากับสังคมก็จะแลเห็นคนและความเคลื่อนไหวที่เปลี่ยนแปลงทำให้เกิดความเข้าใจชีวิตวัฒนธรรมของผู้คนเหล่านั้นได้ดี และแลเห็นว่าคนเหล่านั้นแตกต่างกับคนในกลุ่มของเราอย่างไร รวมทั้งทำให้เกิดความเข้าใจว่า ทำไมคนแต่ละกลุ่มจึงแตกต่างกัน ความรู้ที่ได้เล่าเรียนมาในวิชานี้จึงเท่ากับเตือนสติให้ข้าพเจ้าต้องหยุดมองและหยุดคิดในเรื่องการหาข้อเท็จจริงว่ามีพระบรมธาตุในพระธาตุศรีสองรักหรือเปล่า ต้องกลับหันมาจำนนต่อความเชื่อและการปฏิบัติของคนด่านซ้ายในด้านประเพณีพิธีกรรมที่มีทั้งพุทธและผีร่วมกัน เพราะสิ่งนี้คือสิ่งที่ทำให้คนด่านซ้ายดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันมาอย่างราบรื่นเป็นเวลาหลายร้อยปี อาจพูดได้ว่านับแต่มีการสร้างพระธาตุขึ้นมาก็ว่าได้

พระธาตุศรีสองรัก คือสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่าทั้งความเชื่อในเรื่องพุทธและผีนั้นอยู่ด้วยช่วยกันในเรื่องความมั่นคงทางจิตใจและสังคมให้กับคนด่านซ้ายอย่างยั่งยืนเสมอมา...’

สำหรับหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดีชิ้นสำคัญที่มาช่วยกำหนดอายุพระธาตุศรีสองรัก นั่นคือ จารึกวัดพระธาตุศรีสองรัก ๑ ปีที่พบจารึกประมาณ พุทธศักราช ๒๔๔๙ สถานที่พบเจดีย์ศรีสองรัก วัดพระธาตุศรีสองรัก ตำบลด่านซ้าย อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย พบโดย ม. ปาวี ชาวฝรั่งเศส ปัจจุบันอยู่ที่ หอพระแก้ว เมืองเวียงจันทน์ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

สภาพจารึกชำรุดแตกออกเป็นชิ้นเล็กๆ เรียงต่อกัน ๔ ชิ้น ทำให้มีข้อความขาดหายไปหลายช่วง และมีไม่ครบจบเรื่อง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เจ้าหน้าที่งานบริการหนังสือภาษาโบราณ กองหอสมุดแห่งชาติ ได้เดินทางไปสำรวจเอกสารโบราณในจังหวัดภาคอีสาน จึงทำให้มีโอกาสทราบว่า จารึกวัดพระธาตุศรีสองรัก หลักจริงนั้นอยู่ที่หอพระแก้ว เมืองเวียงจันทน์ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

จารึกวัดพระธาตุศรีสองรัก ๑ เป็นหลักฐานสำคัญในการศึกษา ประวัติ และวิวัฒนาการของอักษร ภาษา รวมทั้งประวัติศาสตร์ของไทยในสมัยอยุธยาตอนต้น กรมศิลปากรได้เล็งเห็นความสำคัญของเอกสารโบราณชิ้นนี้เป็นอย่างดี จึงได้ติดต่อขอความอนุเคราะห์จากกระทรวงการต่างประเทศ โดยมีหนังสือที่ ศธ ๐๗๐๙/๒๗๔๔๑ ลงวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. ๒๕๒๒ เพื่อขอให้จัดทำสำเนา หรือถ่ายภาพจารึกวัดพระธาตุศรีสองรัก

 

และต่อมากระทรวงการต่างประเทศ ก็ได้มีหนังสือ ที่ กต ๐๗๐๓/๔๑๖๓๓ ลงวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ปี พ.ศ. ๒๕๒๓ นำส่งสำเนาภาพถ่ายจารึกจำนวน ๒ ชุด รวม ๔ แผ่น โดยกรมศิลปากร ต้องจ่ายเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการทำสำเนาจารึกนั้นเป็นเงิน ๑,๖๘๘ กีบ คิดเป็นเงินไทยในเวลานั้น ๓,๔๔๔.๒๐ บาท สำเนาจารึกดังกล่าว เจ้าหน้าที่งานบริการหนังสือภาษาโบราณ กองหอสมุดแห่งชาติ รับไว้เมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม ปี พ.ศ. ๒๕๒๓ 
 


จารึกหลักอื่นๆ ที่วัดพระธาตุศรีสองรัก
สำรวจโดยอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๗