บ่อน้ำนางอุสา อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท
จากระบบภาพฐานข้อมูลศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม
ร่องรอยของฐานแท่นหินประดิษฐานพระพุทธรูปและมีการใช้หินทรายเรียงก่อเป็นกำแพงที่วัดลูกเขย บ่ง-บอกอิทธิพลการใช้วัตถุเนื่องในวัฒนธรรมแบบเขมร ซึ่งก็คงมีอายุร่วมสมัยในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ต่อมาก็เห็นอิทธิพลของตำนานเรื่องอุสา-บารส เรื่องพญานาคในการเสริมเพิ่มเติมตกแต่งเพิงหินตามธรรมชาติให้มีรูปร่างเป็นอาคาร เป็นห้องในระยะต่อมาอย่างชัดเจน และที่เห็นอิทธิพลของพุทธศาสนาแบบลาวล้านช้างก็คือ พระพุทธรูปแบบประทับยืนปางเปิดโลกที่อยู่เหนือพระพุทธรูปนั่งบริเวณถ้ำพระซึ่งเป็นคตินิยมเดียวกันกับการสร้างพระพุทธรูปประทับยืนโดยทั่วไปในวัฒนธรรมลาวล้านช้าง
อีกฝั่งหนึ่งในเทือกเขาหินทรายที่ต่อเนื่องถึงกันทางฝั่งลาวอันเป็นแนวเขาเดียวกันกับภูพาน ห่างจากนครเวียงจันทน์ไปราว ๗๐ กิโลเมตร บนเส้นทางที่จะเดินทางไปสู่เขตเทือกเขาภายใน ตรงจุดที่เป็นช่องเขาจากที่ราบลุ่มน้ำงึมเริ่มต้นเข้าเขตที่สูง พบอรัญวาสีที่เก่าแก่อีกแห่งหนึ่ง บนเพิงผาที่ถูกปรับให้เป็นลานกว้างร่มรื่น มีพระพุทธรูปประทับนั่งขนาดใหญ่พระพักตร์แสดงออกแบบฝีมือช่างลาวท้องถิ่น และมีการจีบพระหัตถ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของพระพุทธรูปในบริเวณลุ่มน้ำงึม ซึ่งพบพระพุทธรูปที่จีบพระหัตถ์แบบนี้องค์หนึ่งเก็บรักษาไว้ที่พระธาตุหลวงในเมืองเวียงจันทน์ ประเมินอายุได้ว่าอยู่ในกลุ่มทวารวดีตอนปลาย เพราะบริเวณนี้มีรายงานว่าพบชุมชนโบราณที่มีการปักใบเสมาและรูปแบบศิลปะและการอยู่อาศัยอยู่ในสมัยทวารวดีตอนปลายหลายแห่ง
บ้านเมืองพาน เป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีชื่ออยู่ในตำนานอุรังคธาตุ และตามตำนานท้องถิ่นเรื่องอุสา-บารส ในตำนานอุรังคธาตุ กล่าวถึงบริเวณ ภูกูเวียน ในเทือกเขาภูพานนี้ว่าเป็นที่อยู่ของพญานาคชื่อ สุวรรณนาคและพุทโธปาปนาค ซึ่งแต่เดิมหนีจากหนองแสมาตามลำน้ำโขง แล้วมาอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าได้มาโปรดสัตว์ที่แคว้นศรีโคตรบูรได้แวะมาประทับที่ภูกูเวียน ทรงทรมานจนพญานาคยอมแพ้จึงประทับรอยพระพุทธบาทไว้ให้นาคได้สักการบูชา
นอกจากเรื่องที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าแล้ว ตำนานยังกล่าวว่าพญานาคเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับเมืองพาน ซึ่งเป็นเมืองที่พระอิศวรสร้างไว้ในเขตเทือกเขาภูพาน ครั้งแรกพญานาครบกับพระอิศวร ในที่สุดก็ยอมแพ้และกลายเป็นผู้ดูแลเมืองพานช่วยเหลือกษัตริย์ผู้ครองเมือง ต่อมาเมื่อพระบารสมายุ่งเกี่ยวกับนางอุสา ซึ่งเป็นธิดาของเจ้าเมืองพาน พญานาคก็ช่วยเจ้าเมืองพานจับพระบารสมัดไว้ ร้อนถึงพระกิดนารายณ์ (พระกฤษณะ) ตำนานนี้จึงเรียกกันอีกว่าเรื่อง พระกิดพระพาน แล้วต้องมารบกับเจ้าเมืองพานและพญานาค แล้วจึงช่วยพระบารสไปได้
ปัจจุบันชาวบ้านเรียกบริเวณตอนหนึ่งของเทือกเขานี้ว่าเมืองพาน ผู้คนในท้องถิ่นได้นำเอาตำนานพื้นบ้าน นิทานพื้นเมืองเรื่อง ‘อุสา-บารส’ มาตั้งชื่อและเล่าถึงสถานที่ต่างๆ สถานที่ต่างๆ ที่เป็นอารามบนภูพระบาทจึงมีชื่อเรียกตามจินตนาการจากนิทานเรื่องอุสา-บารส เป็นส่วนใหญ่ เช่น หอนางอุสา กู่นางอุสา บ่อน้ำนางอุสา วัดลูกเขย วัดพ่อตา คอกม้า ท้าวบารส เป็นต้น