ผู้เข้าชม
0
18 กุมภาพันธ์ 2564

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ ครูวีระ มีเหมือน ครั้งหนึ่งเคยนำหนังใหญ่มาร่วมจัดแสดงกับมูลนิธิเล็ก - ประไพ วิริยะพันธุ์ ในงานวันเล็ก-ประไพ รำลึก ครั้งที่ ๑ ที่เมืองโบราณ สมุทรปราการ โดยครั้งนั้นได้นำเยาวชนวัดสว่างอารมณ์ จังหวัดสิงห์บุรี จัดทำการแสดงหนังใหญ่เรื่องรามเกียรติ์ ตอน “ศึกทศกัณฐ์ยกรบขาดเศียรขาดกร” โดยเริ่มตั้งแต่การตั้งเสา ปักจอ ณ บริเวณลานสนามชัย หน้าพระที่นั่งสรรเพชญมหาปราสาท ซึ่งเป็นการเลียนแบบอย่างโบราณ (ตามกฎมณเฑียรบาลของพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาที่ระบุไว้ว่าจะต้องเล่นหนังใหญ่เพียง ๒ แห่ง คือหน้าพระบรมมหาราชวังที่อยุธยาบริเวณพระที่นั่งสรรเพชญมหาปราสาทซึ่งก็มีลานสนามชัย และอีกแห่งหนึ่งเล่นที่วัดพุทไธสวรรค์)

จากนั้นทำพิธีไหว้ครู พร้อมทั้งเชิญหนังครู ๓ ตัวคือ ตัวฤษี พระนารายณ์ และพระอิศวร เพื่อเป็นสิริมงคล จากนั้นโหมโรงด้วยการบรรเลงวงปี่พาทย์ ๒ คณะ และเปิดจอด้วยการนำหนังลิงขาวจับลิงดำ ที่เรียกว่า จับลิงหัวค่ำ มาแสดง ก่อนนำเข้าสู่การแสดงหนังใหญ่  มีคุณ สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ได้กล่าวถึงความเป็นมาของหนังใหญ่ ในหัวข้อ  “หนังใหญ่ มหรสพหรือพิธีกรรม” โดยเข้าใจว่าได้รับอิทธิพลมาจากเขมร  เขมรเรียก ‘สะแบก’ สะแบกแปลว่า ‘หนัง’ ในสมุทรโฆษคำฉันท์เขาก็ใช้คำว่า ‘หลุสะแบก’ สะแบกของเขมรนั้นเล่นแบบสนุกสนานเฮฮา เพราะฉะนั้น คนโบราณเขาจึงดูหนังใหญ่กันทั้งคืน

“หนังใหญ่” มหรสพที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ รวมเอาศิลปกรรมหลายแขนงเข้าไว้ด้วยกัน โดยเฉพาะการแกะและตอกหนังให้เกิดรูปร่าง จากภูมิปัญญาและทักษะความชำนาญฝีมือช่าง อีกทั้งยังเป็นต้นกำเนิดการละเล่น “โขน” อีกด้วย เป็นที่น่าเสียดายว่าในปัจจุบันการแสดง ไม่มีให้คนรุ่นหลังได้ชมแล้ว คงเหลือเพียงที่แสดงเพื่อการศึกษาอยู่ในพิพิธภัณฑ์วัดขนอนจังหวัดราชบุรี วัดสว่างอารมณ์จังหวัดสิงห์บุรี และวัดบ้านดอนจังหวัดระยอง เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม หากแต่ในวันนี้ยังมีผู้ที่มีความรู้เรื่องราวของหนังใหญ่ที่มีความเชี่ยวชาญชั้นสูง ทั้งการเชิด การพากย์หนัง และการตอกตัวหนังอย่างครูจฬรรณ์ ถาวรนุกูลพงษ์  ครูช่างหัตถกรรม ปี ๒๕๕๘ งานเครื่องหนัง  และครูวีระ มีเหมือน กับคำกล่าวของครูที่ว่า  “จะยังคงรักษางาน หนังใหญ่ ไว้เพื่อคนรุ่นหลังได้รู้จัก และยังขอมุ่งมั่นทำไปจนกว่าจะหมดลมหายใจ”  ทั้งนี้ก็เพื่อ ไม่ต้องการให้ เรื่องของ  “หนังใหญ่” ต้องเป็นงาน หัตถกรรมชั้นครู ที่ใกล้สูญหาย 

ภาพในงานวันเล็ก-ประไพ รำลึก ครั้งที่ ๑ ปี ๒๕๔๖ ที่เมืองโบราณ สมุทรปราการ