ผู้เข้าชม
0
18 กุมภาพันธ์ 2564

ครูวีระ มีเหมือน 

 

ครูวีระ มีเหมือน ครูศิลป์ของแผ่นดิน งานเครื่องหนัง

เมื่อช่วงเดือนกันยายน ๒๕๖๓ ที่ผ่านมา ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้จัดนิทรรศการ  “หัตถกรรมชั้น “ครู” ที่ใกล้สูญหาย” อายุมากกว่า ๒๐๐ ปี  ภายในนิทรรศการ ได้นำเอาชิ้นงานที่ทรงคุณค่าในสมัยกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา และกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเป็นข้าวของเครื่องใช้ของชนชั้นสูง ชั้นเจ้านาย กว่า ๓๐๐ ชิ้น นำมาจัดแสดงเทียบเคียงกันกับผลงาน “ครู” ที่ใกล้สูญหาย เช่น ตู้พระธรรมประดับกระจกเกรียบ สมบัติของวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ สมัยรัชกาลที่ ๑  อายุราว ๒๓๐ ปี ผ้ายกเมืองนครศรีธรรมราช ถ้าช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา อายุกว่า ๓๐๐ ปี กระเบื้องสังคโลกตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย อายุกว่า ๗๐๐ ปี กริชโบราณอายุกว่า ๒๐๐ ปี  และ หนังใหญ่

ภายในงาน ผู้เขียนมีโอกาสได้พูดคุยสอบถามกับครูวีระ มีเหมือน ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี ๒๕๕๒  งานเครื่องหนัง ผู้ที่สืบทอดวิชาการทำหนังใหญ่ และการพากษ์หนัง ปัจจุบันอยู่ที่ พิพิธภัณฑ์กุฎีไศเลนทร อำเภอสามโก้ จังหวัดอ่างทอง สำหรับรายละเอียดเรื่องการทำหนังใหญ่ ครูวีระเล่าว่า เริ่มสนใจและเรียนกับครูตั้งแต่ปี ๒๔๙๘ ทั้งวิธีการทำตัวหนัง การพูด การร้องบทละคร และการเชิด

"เพราะการเป็นเจ้าของหนังใหญ่ จำต้องเรียนรู้เรื่องวิชาพวกนี้ทุกอย่าง จะเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้"  

 

 

 

ครูวีระเล่าต่อว่า ในทุกวันนี้หนังใหญ่แทบจะไม่มีคนรู้จัก หาดูได้ยากแล้ว แต่ยังมีสำนักที่ยังคงสืบทอดอยู่ มีเพียงวัดบ้านดอนที่ระยอง  วัดขนอน ราชบุรี  วัดสว่างอารมณ์ สิงห์บุรี  บางที่ต้องแสดงในวัด ไปแสดงข้างนอกไม่ได้

ในขณะที่เล่าอธิบายเกี่ยวกับหนังใหญ่ ท่านก็ได้สาธิตการตอกลวดลายบนตัวหนังให้ชมไปด้วย  หนังใหญ่นั้นมีอยู่ ๒ ชนิด อย่างแรกเรียกว่าหนังกลางคืน มีสีพื้นเป็นสีดำกับสีขาวของช่องไฟตัวลาย  อย่างที่สองเรียกว่า หนังกลางวัน มีหลายสีบนตัวหนังคือ สีขาว สีดํา สีเขียว สีเหลือง สีแดง สีต่าง ๆ จะช่วยขับให้ตัวหนังมีความสวยงามเด่นชัดขึ้น  หากเป็นตัวใหญ่ต้องใช้เวลาทำถึง ๒๐ วันต่อ ๑ ตัวจึงเสร็จสมบูรณ์แบบ ในทุกวันนี้ หนังวัว หนังควายที่ใช้ในการทำ ต้องสั่งมาจากคาลิฟอร์เนีย เพราะเป็นพันธุ์ตัวใหญ่  โดยการทำในแต่ละตัวก็มีลักษณะท่าทางแตกต่างออกไปตามเนื้อเรื่องด้วย อย่างเรื่องรามเกียรติ์ นอกจากทำตัวละครทุกตัวแล้ว แต่ละตัวต้องมีท่าแตกต่างกันออกไป เช่น ตัวพระราม มีท่าแผลงศร ๑ ตัว ท่าเชิด ๑ ตัว ท่ารำ ๑ ตัว  เมื่อคนพากย์บรรยายอย่างไรก็เอาตัวหนังตัวนั้นขึ้นไป  ในหนึ่งตอนตกประมาณ ๕๐ ตัว