ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ปรากฏหลักฐานในการแสดงหนังใหญ่ ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องอิเหนา เพื่อใช้ แสดงเพิ่มขึ้นนอกจากเรื่องรามเกียรติ์ และสมัยสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีหลักฐานการสร้างตัวหนังใหญ่และบทวรรณกรรมที่ใช้เรื่องรามเกียรติ์ “หนังใหญ่” ที่มีการสร้างขึ้นในสมัยนี้เป็นหนังใหญ่ที่เรียกว่า หนังกลางคืน ๒ สำนัก คือ หนังใหญ่ชุดพระนครไหวของวัดพลับพลาไชยจังหวัดเพชรบุรี (สันนิษฐานว่าเหตุที่เรียกว่าหนังใหญ่ชุดพระนครไหว เพราะมีศิลปะการแกะสลักที่ประณีตมาก ผู้เชิดมีลีลาที่งดงามมีผู้มาชมเนืองแน่นอย่างที่เรียกว่ามืดฟ้ามัวดินจนแผ่นดินสะเทือน) และสำนักอีกแห่ง คือ หนังใหญ่วัดบ้านดอน จังหวัดระยอง
เมื่อมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้นมา บทบาทของหนังในฐานะมหรสพที่จัดแสดงทุกครั้งในงานพระราชพิธีเริ่มลดลงอย่างชัดเจน หนังได้กลายเป็นการแสดงเฉพาะในงานพระศพเจ้านาย เชื้อพระวงศ์ชั้นสูงเท่านั้น โดยหลงเหลือเพียงการแสดงโขน หุ่น หนัง ๑-๒ โรง ส่วนในงานมงคล อวมงคล หรืองานสมโภชอื่นๆยังมีอยู่บ้างแต่ไม่บ่อยนัก เพราะเริ่มมีมหรสพแบบใหม่อีกหลายอย่างเข้ามาแทนนับตั้งแต่สังคมไทยมีความเปลี่ยนแปลงไปสู่กระแสสังคมตะวันตก คนไทยมีโอกาสเรียนรู้และสัมผัสมหรสพศิลปะการแสดงรูปแบบใหม่ๆเพิ่มมากขึ้น มหรสพแบบไทยแท้ โดยเฉพาะหนังดูเหมือนจะถูกลืมไปในเวลารวดเร็ว
การสร้างตัวหนังใหญ่ของไทย
การสร้างตัวหนังใหญ่ มีขั้นตอนหลายขั้นตอน โดยเริ่มจากการเตรียมหนัง มีหนังสัตว์หลายชนิดที่สามารถแกะฉลุลายเป็นรูปตัวหนังได้ เช่น หนังวัว หนังควาย หนังเสือ หนังหมี หนังแพะ แต่คนไทยนิยมใช้หนังวัวมากกว่าหนังชนิดอื่นๆ เพราะหนังวัวมีความบางกว่า มีความโปร่งใส และฉลุลายได้สวยกว่า หนังวัวหนึ่งตัวเท่ากับตัวละครหนึ่งตัว โดยตัวหนังใหญ่ที่แกะสลักเพื่อใช้ในการแสดงต้องมีความ หนา ๑.๕ มิลลิเมตร และมีขนาดใหญ่สุดจะกว้างยาว ๑.๘ เมตร
หลังจากนั้นเริ่มทำการการฟอกหนัง ฟอกหนังแบบโบราณ จะนำหนังสดมาหมักกับน้ำปูนขาว แล้วนำขึ้นมาใส่ครกตำข้าว ตำจนนิ่ม จากนั้นนำไปแช่ในน้ำลูกดอกลำโพง ๓ ถึง ๕ วัน เพื่อฟอกเอาผังผืดและไขมันออก ผึ่งแดดให้แห้ง เมื่อหนังเริ่มแห้งสนิททำความสะอาดอีกครั้งโดยใช้กะลามะพร้าว ขูดผังผืดและขนออกจนกระทั่งหนังทั้งผืนบางสม่ำเสมอกัน การฟอกหนังแบบโบราณเป็นกรรมวิธีที่เรียกว่า ฆ่าหนังให้ตาย
ส่วนในปัจจุบันการฟอกหนังนิยมใช้น้ำส้มสายชู ๑ ลิตร ผสมน้ำ ๒๐ ลิตร หมักหนังที่ครูตกแต่งขนกับไขมันออกในอ่างหรือโอ่งที่ผสมน้ำส้มสายชู แช่ทิ้งไว้ประมาณ ๓ ชั่วโมง แล้วผึ่งลมไว้จนแห้งสนิท
จากนั้นจึงเขียนลวดลายบนตัวหนัง สมัยโบราณเอาเขม่าก้นหม้อ ละลายกับน้ำข้าว เช็ดทาพื้นหนังให้ทั่วทั้ง ๒ ด้าน แล้วใช้ดินสอพองเขียนลวดลายตามต้องการ ตัวหนังจะมีรูปร่างสวยงามมีความวิจิตรมากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับการเขียนลายนี้เอง ถ้าช่างเขียนลายฝีมือไม่เที่ยงพอ มีการเขียนลายผิด จะลบออกยาก (เสถียร ชังเกตุ, ๒๕๓๗, น. ๒๕ - ๒๖ ) และเมื่อเขียน ลวดลายลงบนผืนหนังดังกล่าวแล้วข้างต้น ช่างแกะฉลุจะใช้มุกหรือปัจจุบันเรียกว่าตาไก่ ตอก หรือใช้สิ่วขนาดต่างๆในการแกะสลัก และทำการลงสีบนตัวหนัง ตามแต่ลักษณะของละครแตกต่างกันไป