ผู้เข้าชม
0
1 สิงหาคม 2567

บริเวณลานเพิงหิน อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท

จากระบบฐานข้อมูลภาพศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม



จากการสำรวจทางโบราณคดีที่ผ่านมาได้พบว่าบนภูพระบาทแห่งนี้ปรากฏร่องรอยกิจกรรมของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์กำหนดอายุได้ราว ๒,๕๐๐ – ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว ดังตัวอย่างการค้นพบภาพเขียนสีอยู่มากกว่า ๕๔ แห่งบนภูเขาลูกนี้ นอกจากนี้ก็ยังพบการดัดแปลงเพิงหินธรรมชาติให้กลายเป็นศาสนสถานของผู้คนในวัฒนธรรมทวารวดี วัฒนธรรมเขมร วัฒนธรรมล้านช้างและรัตนโกสินทร์ตามลำดับ ซึ่งร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีเหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางสังคมของมนุษย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

กรมศิลปากร ได้พัฒนาแหล่งจนกลายเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทในที่สุด และได้มีพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ โดยสมเด็จพระเทพรัตน-ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด

ปัจจุบันอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เป็นหน่วยงานหนึ่งในสังกัดสำนักศิลปากรที่ ๘ ขอนแก่น กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม มีโบราณสถานในพื้นที่รับผิดชอบซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วทั้งสิ้น ๗๘ แห่ง มีภารกิจหลักในการดูแลรักษา อนุรักษ์และพัฒนา และทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโบราณสถานและโบราณวัตถุที่อยู่ภายในพื้นที่อุทยานฯ และพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งยังเปิดให้บริการในฐานะแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมสำหรับประชาชนทั่วไป

บทความ ‘พระป่าสายอีสานและอรัญวาสีสองฝั่งโขง: ภูพานมหาวนาสี’ โดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ ซึ่งได้แนวคิดเบื้องต้นมาจาก ‘ภูพานมหาวนาสี’ ของอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม โดยให้ความคิดหลักในการตั้งข้อสังเกตกลุ่มโบราณสถานบนเทือกเขาภูพานว่า เป็นต้นเค้ากำเนิดของพระป่าในอีสานที่มีความสืบเนื่องมาจากการเข้ามาของพุทธศาสนาแบบเถรวาทในยุคเริ่มแรก มากกว่าช่วงที่พุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์เข้ามาประดิษฐานในแคว้นสุโขทัยเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ได้ฉายภาพให้เห็นความสืบเนื่องตกทอดของคติความเชื่อความศรัทธาจากยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงศาสนาต่างๆ ที่เผยแผ่เข้ามา โดยเฉพาะพุทธศาสนาที่ปักหลักอย่างมั่นคงมาถึงปัจจุบันอย่างเป็นระบบตามระเบียบวิจัยผ่านวิธีคิดภูมิวัฒนธรรม

‘ …เทือกเขาหินทรายในเขตภูพาน ทั้งที่อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี แถบอุบลราชธานีและมุกดาหาร มีกลุ่มก้อนหินโพล่ซ้อนกันคล้ายดอกเห็ดหรือตั้งพิงกันหลายแห่ง เรียกว่า เพิงหิน [Rock shelter] ส่วนพื้นที่รอบๆ เป็นลานหินกว้างน่าจะเหมาะสำหรับเป็นลานพื้นที่เพื่อทำพิธีกรรมร่วมกันของกลุ่มคนที่เดินทางมาจากท้องถิ่นต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

บริเวณเหล่านี้เป็นพื้นที่ประกอบพิธีกรรมทางความเชื่อต่อเนื่องกันมานับจากสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ปรากฏภาพเขียนสีลวดลายเรขาคณิต ภาพฝ่ามือ ภาพเลียนแบบคนและสัตว์ต่างๆ เขียนไว้ตามผนังหรือใต้เพิงหินหลายจุด และในกาลต่อมาบริเวณเพิงผาหินและลานหินเหล่านี้ถูกปรับเพื่อใช้เป็นสำนักสงฆ์หรือวัดที่แฝงเร้นตามป่าเขา อันเรียกได้ว่าเป็นอรัญวาสีทางพุทธศาสนา