ผู้เข้าชม
0
30 มิถุนายน 2564

 

ดินแดนประเทศไทยที่เป็นส่วนหนึ่งของสุวรรณภูมินั้นไม่เป็นเพียงดินแดนสุวรรณภูมิที่พ่อค้าจากอินเดียและที่อื่นเข้ามาเพียงค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าเท่านั้น หากเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุนานาชนิดและของป่าที่ราบลุ่มแม่น้ำและลำน้ำมากมายพอเพียงกับการสร้างบ้านแปลงเมือง โดยเฉพาะอีสานเป็นแหล่งโลหะธาตุสำคัญ เช่น ‘เกลือและเหล็ก’

 

 

 

ลูกปัดตรีรัตนะ สัญลักษณ์ทางพุทธศาสนา พบที่เขาสามแก้ว จังหวัดชุมพร


ที่ทำให้ข้าพเจ้าได้ความเข้าใจเพิ่มเติมกว่าแต่ก่อนว่า ดินแดนประเทศไทยที่เป็นส่วนหนึ่งของสุวรรณภูมินั้นไม่เป็นเพียงดินแดนสุวรรณภูมิที่พ่อค้าจากอินเดียและที่อื่นเข้ามาเพียงค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าเท่านั้น หากเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุนานาชนิดและของป่าที่ราบลุ่มแม่น้ำและลำน้ำมากมายพอเพียงกับการสร้างบ้านแปลงเมือง โดยเฉพาะอีสานเป็นแหล่งโลหะธาตุสำคัญ เช่น ‘เกลือและเหล็ก’ ที่กลายเป็นดินแดนภายใน [Hinterland] ของผู้คนจากชายทะเล จากเวียดนามและอ่าวไทยเข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นสังคมอุตสาหกรรม ผลิตเกลือ เหล็กกันมาก จนเกิดการขาดแคลนน้ำเพื่อการบริโภคและอุปโภคในฤดูแล้ง เป็นเหตุให้เกิดการสร้าง ‘ชุมชนบ้านเมืองที่มีสระน้ำคูน้ำแลคันดินล้อม’ กระจายกันทั่วไป และมีพัฒนาการเป็นบ้านเมืองและรัฐอย่างสืบเนื่องสืบต่อหลายยุคหลายสมัยทางวัฒนธรรมตั้งแต่สมัยสุวรรณภูมิ ฟูนัน ทวารวดี จนถึงสมัยลพบุรีและอยุธยา

สุวรรณภูมิคือประวัติศาสตร์ยุคต้นของสยามประเทศ

จากการศึกษาสำรวจแหล่งชุมชนโบราณยุคสมัยต่างๆ ตามที่กล่าวมาแล้ว ทำให้เข้าใจได้ว่า สุวรรณภูมิเป็นดินแดนโพ้นทะเลทางตะวันออกของที่ก่อน ๓,๕๐๐ ปี หรือ 1,500 B.C. มีคนอยู่น้อย แต่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติทั้งบรรดาโลหะธาตุและของป่านานาชนิด รวมทั้งที่ราบลุ่มน้ำลำคลองและดินฟ้าอากาศเหมาะสมกับการปรับตัวเองของมนุษย์ ในการสร้างบ้านแปงเมือง จึงเกิดการเคลื่อนย้ายจากภายนอกเข้ามาตั้งถิ่นฐานกันแต่สมัยหินใหม่ จากดินแดนมณฑลเสฉวนลงมาแต่ประมาณ ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว เป็นการเคลื่อนย้ายทางบกมาตามแนวเขาจนสุดคาบสมุทรมลายู พอราว ๓,๕๐๐ ปีลงมาก็มีการเคลื่อนย้ายของกลุ่มชนทางใต้ของจีน โดยเฉพาะจากทางยูนนานในยุคสำริดเข้ามา ที่กลุ่มหนึ่งเข้ามาตั้งถิ่นฐานในที่ราบสูงโคราชของภาคอีสาน เป็นการเคลื่อนย้ายมาตามเส้นทางบก พอราวต้นพุทธกาลราว ๒.๕๐๐ หรือ ๕๐๐ B.C. ลงมา ก็มีการเคลื่อนย้ายของผู้คนโพ้นทะเลเข้ามาทั้งตั้งถิ่นฐานและทำการค้าขายกับคนท้องถิ่น ทำให้เกิดเส้นทางการค้าระหว่างทะเลในระยะไกลกับคนอินเดียที่มีความเจริญมาแล้วแต่สมัยยุคเหล็กตอนต้นราว ๑,๒๐๐ B.C.  การเคลื่อนย้ายจากภายนอกทางทะเลเข้ามาดังกล่าวนี้ ราว ๕๐๐ B.C. นับเนื่องเป็นสมัยเหล็กตอนปลายของคนอินเดีย อันเป็นยุคที่อินเดียมีความเจริญเป็นนครรัฐ และอาณาจักรแล้ว  ในขณะที่ในดินแดนสุวรรณภูมิ มีการตั้งถิ่นฐานของผู้คนทั้งบริเวณชายฝั่งทะเลดินแดนภายใน อันเนื่องมาจากการขยายตัวของเส้นทางการค้า ทำให้เกิดบ้านเมืองและรัฐสมัยแรกเริ่มขึ้น นับเป็นการเริ่มต้นของสมัยประวัติศาสตร์ในดินแดนประเทศไทย

อย่างไรก็ดีในวงวิชาการส่วนใหญ่ก็ยังไม่มีการยอมรับในเรื่องนี้ เพราะยังเชื่อว่าสุวรรณภูมิเป็นเรื่องราวในความเชื่อที่เรียกตำนานประวัติศาสตร์ และยังคงให้เพดานของยุคสมัยทางประวัติศาสตร์อยู่เพียงแต่สมัยทวารวดี คือช่วงเวลาแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ ลงมา ที่ตามมาด้วยสมัยศรีวิชัย ลพบุรี และกรุงเทพฯ แต่เมื่อการค้าพบโบราณวัตถุ เช่น ลูกปัดและเครื่องประดับที่ทำจากวัสดุมีค่า เช่น หินสีกึ่งรัตนชาติ แก้วและทองคำจากการลอบลักขุดหาสมบัติของชาวบ้านและคนค้าของเก่า อันเป็นโบราณวัตถุที่เคลื่อนย้ายได้ ซึ่งนักวิชาการในวงโบราณคดีของรัฐส่วนใหญ่ด้อยค่าว่าไม่อาจเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้ และเรื่องราวของสุวรรณภูมิเป็นเพียง ‘ตำนานประวัติศาสตร์’ เท่านั้น