ผู้เข้าชม
0
18 กุมภาพันธ์ 2564

หลักฐานที่กล่าวถึงหนังใหญ่ในไทย

ในสมัยอยุธยา หนังใหญ่เดิมที่เรียกว่า “หนัง” ส่วนคำว่า “หนังใหญ่” มีผู้สันนิษฐานว่าเริ่มใช้ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งที่น่าจะเป็นการเรียกตามขนาดของตัวหนัง ให้เห็นความแตกต่างจากหนังตะลุงที่มีตัวหนังขนาดเล็กกว่าและนิยมเล่นกันในภาคใต้ (นวลพรรณ บุญธรรม, ๒๕๔๙, น.๓๐)

หลักฐานเก่าที่สุดที่กล่าวถึงการแสดงหนังใหญ่ของไทยที่สืบค้นได้ คือ กฎมณเฑียรบาลสมัยอยุธยา หากยึดตามศักราชพบว่าตราขึ้นเมื่อ จ.ศ.๗๒๐ (พ.ศ. ๑๙๐๑)  ซึ่งตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 พระเจ้าอู่ทอง (แต่บ้างก็ว่าอยู่ในยุคสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) โดยกล่าวไว้ในเรื่องพระราชพิธีจองเปรียง ลดชุด ลอยโคมลงน้ำ ซึ่งสันนิษฐานว่าเทียบเคียงได้กับการเฉลิมฉลองปีใหม่ มีพระราชพิธีสำคัญของพระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายที่สำคัญหลายพระองค์เสด็จร่วมงานบริเวณพื้นที่พระลานพระราชวัง และเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคไปประกอบพิธีที่หน้าวัดพุทไธศวรรย์ ในเอกสารกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า 

“ครั้นถึงพุทไธสวรรย์จุดดอกไม้เล่นหนัง” 

หลักฐานนี้แสดงให้เห็นว่า “หนัง” หรือ “หนังใหญ่” เป็นที่รู้จักอย่างดี และเป็นมหรสพในพระราชพิธีสำคัญมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาตอนต้นแล้ว  ทั้งนี้ยังปรากฎให้เห็นอย่างต่อเนื่อง สืบต่อมาหลายยุคหลายสมัย มีหลักฐานปรากฎในเอกสารต่างๆ อาทิเช่น ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช บทแสดงหนังที่พบในวรรณกรรมสมุดโฆษคำฉันท์ ซึ่งมีที่มาจากสมุดโฆษชาดก แต่งโดยพระมหาราชครู สันนิษฐานว่าน่าจะมีพระราชประสงค์ให้จัดแสดง ฉลองพระชนมายุครบ ๒๕ พรรษา แต่คุณสุจิตต์ วงเทศ เคยให้ความเห็นว่าใน สมุทรโฆษคำฉันท์ ไม่มีหลักฐานว่ามีตัวหนังและไม่เคยเล่นด้วย

       

วัดพุทไธสวรรค์ อยุธยา ในปัจจุบัน

 

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า มหรสพต่างๆแทบจะเลือนหายไป  จนถึงในสมัยกรุงธนบุรี การเล่นหนังใหญ่ก็ได้มีการรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โปรดเกล้าฯให้จัดแสดงมหรสพสมโภชอย่างยิ่งใหญ่เมื่อคราวฉลองรับพระแก้วมรกตที่เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกอัญเชิญมาจากกรุงเวียงจันทน์ มีการ แสดงหนังใหญ่ หนังจีน ตลอดพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวัน (จากเอกสารหมายรับสั่งกรุงธนบุรี จ.ศ. ๑๑๓๘ เลขที่ ๒)