ผู้เข้าชม
0
1 สิงหาคม 2567

เมื่อมีการประกาศจากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ ๔๖ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๑–๓๑ กรกฎาคม ปี พ.ศ. ๒๕๖๗ ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย โดยองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) ได้ประกาศให้อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท  จังหวัดอุดรธานี เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในชื่อ ‘ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมาสมัยทวารวดี’ (Phu Phrabat, a testimony to the Sīma stone tradition of the Dvaravati period)

ถือเป็นแหล่งมรดกโลกลำดับที่ ๘ และแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ ๕ ของประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งที่ ๒ ของจังหวัดอุดรธานี ต่อจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากยูเนสโกเมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๕

หากย้อนกลับไปสู่อดีต การสงวนรักษาและการเตรียมการเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก กรมศิลปากรได้ดำเนินการขอใช้พื้นที่ป่าสงวนจำนวน ๓,๔๓๐ ไร่ จากกรมป่าไม้ โดยได้ประกาศขึ้นทะเบียนเขตโบราณสถานไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๙๘ ตอนที่ ๖๓ เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ปี พ.ศ. ๒๕๒๔ จากนั้นจึงได้พัฒนาแหล่งจนกลายเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทในที่สุด

อีก ๒๓ ปีต่อมา ในวันที่ ๑ เมษายน ปี พ.ศ. ๒๕๔๗ ยูเนสโกได้ขึ้นเป็นสถานที่ที่ได้รับขึ้นบัญชีรายชื่อเบื้องต้นเพื่อพิจารณาขึ้นเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม

เงื่อนไขเวลา เมื่อ ๒ ทศวรรษที่แล้ว ‘ภูพระบาท’ ได้รับการประกาศรายชื่อในบัญชีเบื้องต้นของมรดกโลก จากศูนย์มรดกโลกยูเนสโก ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๗ ซึ่งตามข้อตกลงสากล ประเทศไทยต้องทำเอกสารขอเสนอเป็นมรดกโลกส่งไปยังศูนย์มรดกโลกภายใน ๑๐ ปี ซึ่งประเทศไทยส่งทันในปี พ.ศ. ๒๕๕๘

ในปี พ.ศ. ๒๕๕๙ สภานานาชาติว่าด้วยการดูแลอนุสรณ์สถานและแหล่งโบราณคดี (International Council on Monuments and Sites) หรือ อิโคโมส (ICOMOS) ได้แจ้งให้ทางการไทยทราบเกี่ยวกับการเสนออุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกของทางการไทย โดยมีข้อเสนอแนะให้ดำเนินการศึกษาในเชิงลึกเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของวัฒนธรรมของสีมากับพุทธศาสนา เพื่อนำไปสู่ศักยภาพที่โดดเด่นของอุทยานฯ รวมทั้งหากเป็นไปได้ เสนอให้พิจารณาเกณฑ์และขอบเขตการขึ้นทะเบียนอุทยานฯ ที่ทางการไทยเสนอ

โดยมีข้อมติเสนอให้ขึ้นทะเบียนอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเป็นแหล่งมรดกโลก ประเภทภูมิทัศน์วัฒนธรรม และเสนอให้เปลี่ยนชื่อแหล่งเป็น ‘ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมาสมัยทวารวดี’ รวมทั้งขอให้ดำเนินการในเรื่องต่างๆ ภายหลังจากการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกด้วยคุณค่าความโดดเด่นของการแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมสีมาในสมัยทวารวดี จนมาประสบความสำเร็จในอีก ๘ ปีต่อมาคือ ปี พ.ศ. ๒๕๖๗ นี้

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ตั้งอยู่บนภูเขาที่ชื่อว่า ภูพระบาท ในเขตพื้นที่เมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพาน ซึ่งเป็นเทือกเขาหินทราย อยู่ทางทิศตะวันตกของจังหวัดอุดรธานี มีความสูงจากระดับน้ำทะเลเฉลี่ยปานกลางประมาณ  ๓๒๐ – ๓๕๐ เมตร สภาพโดยทั่วไปเป็นป่าโปร่ง  มีพืชพันธุ์ธรรมชาติประเภทไม้เนื้อแข็งขึ้นปกคลุม
 

ภาพถ่ายทางอากาศเมืองอุดรธานีในอดีต

จากระบบฐานข้อมูลภาพศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม