ผู้เข้าชม
0
30 มิถุนายน 2564

มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์สุวรรณภูมิในลักษณะที่ว่าเป็นประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรม [Cultural history] ที่คนทั่วไปมักเรียกว่า ‘ประวัติศาสตร์โบราณคดี’ ที่ทำการศึกษาความเป็นมาของผู้คน [People] ดินแดน [Land] และผู้คนของประเทศไทยแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนสมัยปัจจุบัน ประวัติศาสตร์สุวรรณภูมิ จึงเป็นสิ่งที่อยู่ในลำดับเวลายุคสมัยในการศึกษาค้นคว้าของมูลนิธิฯ ที่ดำเนินมาตั้งแต่แรก คือนับเป็นเวลาล่วงมาแล้วกว่า ๔๐ ปี

จากการสำรวจศึกษาและวิเคราะห์หลักฐานทางโบราณคดีที่เป็นแหล่งชุมชนบ้านเมืองและรัฐที่พัฒนาขึ้นในดินแดนประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนสุวรรณภูมิ พอสรุปได้ว่า ก่อนสมัยหินใหม่ [Neolithic] ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ประมาณ ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว มีผู้คนในสุวรรณภูมิน้อยมาก ผู้คนมีชีวิตอยู่ในสังคมแบบร่อนเร่ไม่มีหลักแหล่งที่แน่นอน และมีจำนวนน้อยมากในแต่ละแห่ง เพราะการค้นพบแต่แหล่งที่มีเครื่องมือเครื่องใช้ทำด้วยหิน กระดูก และอินทรีย์วัตถุ จนกระทั่งถึงสมัยหินใหม่อันเป็นยุคสมัยของการตั้งถิ่นฐานติดที่ [Sedentary settlements] ที่มีการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์แล้ว จึงเห็นร่องรอยของการเคลื่อนย้ายของผู้คน จากแคว้นเสฉวนทางใต้ของประเทศจีนเข้ามาตั้งหลักแหล่งเป็นชุมชนหมู่บ้านเล็กๆ ตามท้องถิ่นที่ห่างกันดังเช่นที่ ‘บ้านเก่า’ ใกล้ลำน้ำแควน้อยในเขตจังหวัดกาญจนบุรี และ ‘หนองราชวัตร’ ในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นต้น ซึ่งในยุคหินใหม่นี้ยังไม่พบบรรดาเครื่องมือเครื่องใช้และเครื่องประดับทำจากแร่ธาตุที่เป็นโลหะผสมที่เรียกว่าสำริด

จนถึงประมาณ ๓,๕๐๐ ปี หรืออีกนัยหนึ่ง ๑,๕๐๐ B.C. ลงมา การเคลื่อนย้ายมีมากขึ้นโดยเฉพาะจากทางยูนนานลงมาอย่างต่อเนื่อง เป็นช่วงเวลาที่รู้จักการถลุงโลหะสำริดและทำเครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องประดับและอาวุธอย่างมีรูปแบบที่ได้รับอิทธิพลจากบ้านเมืองทางยูนนาน โดยมีการติดต่อระหว่างกันนอกจากเส้นทางภายในตามแนวเทือกเขา แล้วยังมาจากทางชายฝั่งทะเลจีนและเวียดนามลงมา การตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนบ้านในระยะนี้มีมากกว่าแต่ก่อน ที่มีความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างอย่างมีศูนย์กลางเป็นบ้านใหญ่และบ้านเล็ก

ชุมชนในยุคโลหะสำริดนี้เกิดขึ้นมากตามท้องถิ่นให้เขาและที่สูงอันเป็นแหล่งแร่ธาตุ เช่นในเขตลุ่มน้ำลพบุรี-ป่าสักและที่ราบสูงโคราช ทั้งในแอ่งโคราชและแอ่งสกลนคร แต่เมื่อเปรียบเทียบของความหนาแน่นของชุมชนในทุกภูมิภาคของประเทศแล้ว ก็ต้องยุติได้ว่าตั้งแต่ยุคโลหะเป็นต้นมาไม่มีภูมิภาคใดๆ ในประเทศจะมีการตั้งถิ่นฐานของชุมชนที่มีจำนวนประชากรมากเท่าดินแดน ‘ที่ราบสูงโคราช’ ที่แลเห็นการเคลื่อนย้ายของผู้คนจากภายนอก จากยุคสำริดเข้าสู่ยุคเหล็กในช่วงเวลา ๒,๕๐๐ ปี หรือ ๕๐๐ B.C. ลงมา เป็นช่วงเวลาของการเคลื่อนย้ายที่ไม่ได้มาจากเส้นทางบกทางใต้ของประเทศจีนแต่ทางเดียว หากเข้ามาหลายทางจากดินแดนโพ้นทะเลจากหลายๆ แห่งในลักษณะเป็นเส้นทางการค้าระยะไกลโดยเฉพาะจากอินเดียและจีน

 

ประวัติศาสตร์สุวรรณภูมิ จึงเป็นสิ่งที่อยู่ในลำดับเวลายุคสมัยในการศึกษาค้นคว้าของมูลนิธิฯ ที่ดำเนินมาตั้งแต่แรก คือนับเป็นเวลาล่วงมาแล้วกว่า ๔๐ ปี

 

ต่างหูทองคำ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๕ พบที่เขมายี้