ผู้เข้าชม
0
18 กุมภาพันธ์ 2564

  รู้จัก “หนังใหญ่” หัตถกรรมชั้นครู ที่ใกล้สูญหาย 

“หนังใหญ่” การแสดงที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมไทย ที่เรียกว่า “หนัง” นั้นเพราะสิ่งที่ใช้แสดงเป็นตัวหนัง ทำมาจากหนังวัว หนังควาย แกะสลักเป็นรูปบุคคล สัตว์ สถานที่และสิ่งประกอบการแสดง เกิดจากภูมิปัญญาและทักษะความชำนาญฝีมือช่างที่มีความพิถีพิถันในการแกะและตอกเป็นรูป โดยมีผู้ถือเชิดให้เกิดเงาปรากฏบนจอผ้าขาวที่มีแสงไฟส่องจากด้านหลัง มีวงดนตรีปี่พาทย์บรรเลงประกอบลีลาการเชิดของคนเชิดที่ต้องตามจังหว่ะดนตรี และการใช้คำพากย์เจรจาเป็นบทในการดำเนินเรื่อง

โดยได้รับการยกย่องว่าเป็นมหรสพชั้นสูงของไทยที่มีมาแต่สมัยโบราณ  เพราะเป็นหนึ่งในการแสดงที่จะต้องจัดให้มีการแสดงทุกครั้ง เมื่อมีงานสำคัญของบ้านเมือง อาทิ พระราชพิธีอภิเษกของกษัตริย์และเจ้านาย พระราชพิธีเกี่ยวกับความตาย งานสมโภชต่างๆของบ้านเมือง สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยมักแสดงเรื่องรามเกียรติ์เช่นเดียวกับการแสดงโขน เป็นการสรรเสริญพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ และสอดแทรกหลักคุณธรรมจริยธรรมไปในการแสดง ที่เปรียบดั่งพระนารายณ์อวตาร โดยหนังใหญ่เกิดจากการผสมผสานของศิลปะชั้นสูงหลากหลายแขนง ทั้งหัตถศิลป์ วรรณศิลป์ วาทศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และนาฏศิลป์ 

     “หนัง” หรือการที่มนุษย์เล่นกับเงา ปรากฎให้เห็นอยู่ในหลายชุมชน หลายวัฒนธรรม และหลากหลายภูมิภาคของโลก ในโลกตะวันออกมีการเล่นหนังเป็นมหรสพมากกว่าสองพันปีและดูเหมือนจะเกิดขึ้นพร้อมๆกันในหลายประเทศ เช่น อินเดีย จีน อียิปต์ ตุรกี เป็นต้น โดยไม่อาจกล่าวได้ว่าใครเป็นต้นแบบหรือว่าใครรับอิทธิพลของใครมา

มีนักวิชาการและผู้ที่ศึกษา “หนัง” ของไทย สันนิษฐานว่า หนังใหญ่ของไทยอาจมีที่มาได้จาก ๓ แหล่ง ซึ่งอาจเข้ามาทั้งโดยตรงหรือโดยทางผ่าน ดังนี้

         

                    ตัวละครนนทกถือกระบวนตักน้ำ  ในเรื่องรามเกียรติ์

 

แหล่งที่ ๑  อารยธรรมอินเดีย ที่เป็นแม่บทของนาฏศิลป์ ดนตรี วรรณกรรม ที่เผยแพร่มายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นับพันปี

 แหล่งที่ ๒  วัฒนธรรมชวา จากดินแดนทะเลใต้ ในสมัยศรีวิชัย

 แหล่งที่ ๓  วัฒนธรรมเขมร ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ 

แต่ในขณะเดียวกันก็มีผู้สรุปว่า การแสดงด้วยตัวหนังขนาดใหญ่ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่นที่ประเทศอินโดนีเซีย ที่เรียกว่า “วาหยัง” ล้วนมีต้นเค้าจากการแสดง ฉายานาฏกะ จากอินเดีย ที่มีหลักฐานปรากฏในคัมภีร์พุทธศาสนา เถรีกถา และคัมภีร์มหาภารตะ (ราศี บุรุษรัตนพันธ์, ๒๕๕๑, น.๖)