ผู้เข้าชม
0
1 สิงหาคม 2567

ช่วงเวลานี้ ถนนทุกสายและผู้คนกำลังเดินทางมุ่งหน้าไปสู่อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท โดยใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒ เดินทางจากกรุงเทพมหานครมายังจังหวัดอุดรธานีเป็นระยะทาง ๕๖๔ กิโลเมตร ผ่านตัวเมืองอุดรธานีมุ่งหน้าไปทางจังหวัดหนองคาย  เลี้ยวซ้ายที่บริเวณหมู่บ้านนาข่าเข้าสู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๐๒๑ อีก ๖๗ กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท

พลิกดูฐานข้อมูลภาพศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม โดย มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ เคยได้นำเสนอภาพการสำรวจท้องถิ่นเพื่อทำวารสารเมืองโบราณช่วงแรก ระหว่างช่วงปลายปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ถึงต้นปี พ.ศ. ๒๕๑๙ หรือราวๆ เกือบ ๕๐ ปีมาแล้ว ในภาพประกอบด้วยอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม อาจารย์ประยูร อุลุชาฎะหรือ น. ณ ปากน้ำ และอาจารย์ธิดา สาระยา สำรวจและศึกษาโบราณสถานบริเวณจังหวัดอุดรธานีและหนองคาย เพื่อจัดทำวารสารเมืองโบราณฉบับที่ ๔ (เดือนกรกฎาคม-กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๙) ในระหว่างช่วงนั้นอาจารย์ศรีศักรยังคงรับราชการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยพร้อมไปกับออกสำรวจทุกเสาร์อาทิตย์

 

การสำรวจท้องถิ่นเพื่อทำวารสารเมืองโบราณช่วงแรก ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๑๘ - ๒๕๑๙ 

จากระบบฐานข้อมูลภาพศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม

มีภาพหนึ่งซึ่งแสดงถึงบริเวณที่น่าจะเป็นวัดพ่อตา-ลูกเขยที่ ‘พระบาทบัวบก’ ที่แยกสถานที่กันกับพระบาทบัวบาน และชาวบ้านมักเรียกว่า ‘พระบาทบัวบก-พระบาทบัวบาน’ ซึ่งภายหลังเมื่อกรมศิลปากรจัดการใหม่เป็นอุทยานประวัติศาสตร์และเรียกรวมๆ กันว่า ‘ภูพระบาท’ ตั้งอยู่ในอำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี

อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ซึ่งเดินทางสำรวจทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ทั่วอีสาน ได้ตั้งข้อสันนิษฐานว่า เสมาหิน มีต้นตอจากหินตั้งในศาสนาผี และที่ภูพระบาทบัวบก-บัวบาน ก็เป็นแหล่งสำคัญที่พบความสืบเนื่องดังกล่าว

 

วัดพ่อตา อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท

จากระบบฐานข้อมูลภาพศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม