ผู้เข้าชม
0
30 มิถุนายน 2564

ประวัติศาสตร์สุวรรณภูมิเพื่อการพัฒนา

โดยเหตุที่ ‘มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์’ ได้รับการชักชวนให้เข้าร่วมใน ‘โครงการศึกษาสุวรรณภูมิเพื่อการพัฒนา’ ที่ริเริ่มโดย ‘ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษาแห่งชาติ ผู้เห็นว่าควรจะนำความรู้เรื่องสุวรรณภูมิมาสร้างเป็นนวัตกรรมในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในลักษณะที่เป็นสหวิทยาการ [Interdisciplinary] ซึ่งเป็นการมีส่วนร่วมด้วยได้จากนักวิชาการในศาสตร์ต่างๆ เช่น สังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี มนุษย์ศาสตร์ และศิลปวิทยา

ความคิดริเริ่มดังกล่าวนี้เป็นที่น่ายินดีและน่าพิศวงสำหรับบรรดาผู้บริหารของประเทศชาติในยุคโลกาภิวัตน์ เพราะเรื่องราวของ  'สุวรรณภูมิ’ เป็นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์โบราณคดีของคนสมัยบิดาของข้าพเจ้าขึ้นไป หาได้อยู่ในความทรงจำของคนรุ่นปัจจุบันไม่

จนเกิดสะกิดใจขึ้นจากการที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้พระราชทานชื่อ ‘สนามบินสุวรรณภูมิ’ ขึ้นมา เป็นชื่อสถานที่ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่าเป็นนวัตกรรมจากความคิดเพื่อความเป็นสวัสดิมงคลของสถานที่ ซึ่งมาจากการโกงกินอย่างอย่างมหาศาลในขณะการก่อสร้าง

ย้อนเวลาขึ้นไปถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ ก็เคยมีนวัตกรรมในเรื่องความเป็นมงคลและรุ่งเรืองของสุวรรณภูมิแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อมีการพระราชทานนามเมืองโบราณที่พบ ‘พระปฐมเจดีย์’ อันเป็นพระมหาสถูปที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือสุวรรณบุรีว่า ‘นครปฐม’ เพราะเชื่อว่าเป็นที่แรกที่พระพุทธศาสนาจากอินเดียในสมัยของ ‘พระเจ้าอโศกมหาราช’ เข้ามาประดิษฐานในดินแดน ‘สุวรรณภูมิ’

การที่พระมหากษัตริย์ทรงพระราชทานนามเมืองนครปฐมนั้น มีนัยสำคัญในการสร้างประวัติศาสตร์ของชนชาติไทยว่าเป็นบ้านเป็นเมืองที่มีอารยธรรมแล้ว [Civilization] นั่นคือการมีพระพุทธศาสนาเป็นหลัก และอีกอย่างหนึ่งก็คือการมีภาษาและอักษรที่เห็นได้จากการพบศิลาจารึกอักษรไทยสมัยพ่อขุนรามคำแหง ที่สะท้อนให้เห็นการเป็นสังคมที่มีลายลักษณ์ [Literate society] จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๙ ทรงรับรู้เรื่องสุวรรณภูมิจากชาดกพระเจ้าสิบชาติที่เกี่ยวกับทศพิธราชธรรม ซึ่งพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา ต้องทรงเรียนรู้เพราะเป็นที่มาของ ‘ทศบารมี’ คือ ชาดกแต่ละชาติ คือแต่ละพระบารมีที่พระมหากษัตริย์ต้องทรงบำเพ็ญและมหาชนกชาดก คือเรื่อง ‘พระวิริยะบารมี’ ที่เห็นจากความเพียรพยายามของพระมหาชนกทรงว่ายน้ำอยู่ในมหาสมุทรบนเส้นทางเดินเรือไปดินแดนสุวรรณภูมิ อันเป็นดินแดนที่มั่งคั่งและรุ่งเรือในอุดมคติของคนอินเดีย

 

 

ความคิดริเริ่มดังกล่าวนี้เป็นที่น่ายินดีและน่าพิศวงสำหรับบรรดาผู้บริหารของประเทศชาติในยุคโลกาภิวัตน์ เพราะเรื่องราวของ สุวรรณภูมิ เป็นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์โบราณคดีของคนสมัยบิดาของข้าพเจ้าขึ้นไป หาได้อยู่ในความทรงจำของคนรุ่นปัจจุบันไม่

 

 

ปากคลองบางกล้วย อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง