มนุษย์ (human) เข้าไปจัดการพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์บนภูพระบาทตามแนวคิดในกฎแห่งการพึ่งพิงสัมพันธ์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย โดยเลือกพื้นที่/สถานที่ธรรมชาติ (Physical nature) ที่มีลักษณะโดดเด่นเป็นพิเศษ ได้แก่ เสาเฉลียง เพิงหิน และลานหินต่างๆ เป็นที่ประกอบพิธีกรรมในการสื่อสารสร้างความสัมพันธ์อันเกื้อกูลกับสิ่งเหนือธรรมชาติมิติต่างๆ มีการวาดภาพระบายสีเป็นรูปคน สัตว์ สิ่งของ และสัญลักษณ์ต่างๆ
ในสมัยทวารวดี พุทธบริษัท ที่มีพระสงฆ์เป็นกลุ่มนําได้เข้ามาดัดแปลงปรับปรุงพื้นที่/สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ตามแหล่งเสาเฉลียง เพิงหิน และลานหินเดิมที่สืบทอดมาจากยุคก่อนประวัติศาสตร์ให้เป็นศาสนถานในพุทธศาสนา มีการกําหนดขอบเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ให้เป็นพุทธสถาน (เป็นสถูป เจดีย์ วิหาร อุโบสถ) มีการปักหลักหินสีมาลักษณะต่างๆ ล้อมรอบ มีการสกัดแท่งหินให้เป็นผนังห้อง ขุดแต่ง และสกัดพื้นหินระดับต่างๆ ให้เรียบเสมอกัน ทําเป็นแท่นประดิษฐานรูปเคารพและเป็นพื้นห้องสําหรับนั่ง นอนตามโอกาส บางแห่งมีการก่อผนัง กั้นเป็นห้องขนาดต่างๆ และบางแห่งมีการแกะสลักเป็นพระพุทธรูปและประติมากรรมรูปเทวดาและบุคคลไว้ด้วย บางแห่งมีการขุดสกัดพื้นหินให้ลึกลงไปเป็นบ่อน้ำ ซึ่งการดําเนินการดัดแปลงเน้นการขุด สกัด แต่เพียงเล็กน้อยเท่าที่จําเป็น ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อโครงสร้างหรือรูปลักษณ์ดั้งเดิมของธรรมชาติกายภาพแต่อย่างใด... ’
เพราะฉะนั้นการประกาศให้อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในชื่อ ‘ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมาสมัยทวารวดี’ มิใช่เพื่อผลประโยชน์ของการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว ซึ่งวลัยลักษณ์ ทรงศิริ ได้ตั้งข้อสังเกตมาเป็นสิบๆ ปีแล้วว่า ‘อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท’ ทั้งชื่อและความหมายจึงปรับเปลี่ยนไปตามการท่องเที่ยวที่เห็นบางจุดและเน้นบางแห่งเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวมากกว่าที่จะเห็นเรื่องราวและความสำคัญของศาสนสถานจากภาพรวมทั้งหมดในท้องถิ่น
รวมทั้งอาจารย์ศรีศักร วิลลิโภดม เคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อหลายปีที่ผ่านมาว่า ภูพระบาท ก็เป็นมรดกโลกอยู่แล้วในตัวของมันเอง ควรให้ความสำคัญกับความหมายในสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในภูมิภาค ดูพัฒนาการความเชื่อว่า ภูพระบาท เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนาที่มีพัฒนาการเชื่อมโยงมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จากศาสนาผีสู่มิติของความเชื่อความศรัทธาในฐานะพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์...
อ้างอิง
‘อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท’ พิพิธภัณฑ์เสมือนจริง ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศมรดกศิลปวัฒนธรรม ร่วมกับสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร
'ภูพานมหาวนาสี' โดย ศรีศักร วัลลิโภดม นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๓๐ ฉบับที่ ๕ เดือนมีนาคม ปี พ.ศ. ๒๕๕๒
‘พระป่าสายอีสานและอรัญวาสีสองฝั่งโขง’ โดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ นิตยสารสารคดี ฉบับที่ ๒๙๒ (เดือนมิถุนายน ๒๕๕๒) และหนังสือ ‘เมืองหนองหารหลวงและภูพานมหาวนาสี’
วิทยานิพนธ์ ‘การวิเคราะห์การใช้พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อําเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี: จากหลักฐานทางโบราณคดี’ โดยนายพิทักษ์ชัย จัตุชัย หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ ภาควิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร
ประเพณีนมัสการพระพุทธบาทบัวบก : พัฒนาการประเพณี พิธีกรรม สู่มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของจังหวัดอุดรธานี โดย ไกรฤกษ์ ศิลาคม, ธัชวรรธน์ หนูแก้ว, สุพัฒน์ ศรีชมชื่น วารสารภาษา ศาสนา และวัฒนธรรม, ปีที่ ๑๑ ฉบับที่ ๑ เดือนมกราคม-มิถุนายน ปี พ.ศ. ๒๕๖๕ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
คำสำคัญ :