แม้ว่าหลักฐานทางศิลปกรรมในบริเวณเทือกเขาภูพระบาทได้ขาดหายไปในช่วงระยะเวลาหนึ่ง คือราวพุทธ-ศตวรรษที่ ๑๕-๒๑ ซึ่งอาจเป็นช่วงที่ไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนหรือดัดแปลงเพิงหินให้เป็นมากนัก แต่คงเป็นการใช้เพิงหินเดิมที่มีการดัดแปลงแล้ว เพื่อใช้ในการประกอบพิธีกรรมโดยไม่ได้มีการดัดแปลงให้ออกไปจากรูปแบบเดิม แต่เมื่อมาถึงช่วงราวพุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๓ อิทธิพลวัฒนธรรมลาว (ล้านช้าง) ได้แผ่ขยายและเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น และได้ส่งอิทธิพลมาสู่ดินแดนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย รวมทั้งบริเวณพื้นที่แถบเทือกเขาภูพระบาทนี้ด้วย จึงได้ปรากฏโบราณสถานและโบราณวัตถุบนภูพระบาทที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาภายใต้อิทธิพลวัฒนธรรมและรูปแบบศิลปกรรมลาว
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าบริเวณเทือกเขาภูพระบาทมีร่องรอยของการใช้พื้นที่เพื่อการประกอบพิธีกรรมมาตั้งแต่ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายจนถึงปัจจุบัน กล่าวคือ มีร่องรอยของการอยู่อาศัยและการประกอบพิธีกรรมในสมัยยุคเหล็ก สมัยทวารวดี สมัยลพบุรี สมัยล้านช้าง และสมัยรัตนโกสินทร์ ภายใต้บริบทของ ‘พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์’ ซึ่งหมายถึงบริเวณพื้นที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับกลุ่มคนที่มีความเคารพนับถือ หรือการใช้บริเวณพื้นที่เพื่อการประกอบพิธีกรรม ซึ่งอาจเป็นของกลุ่มคนที่อยู่ในบริเวณพื้นที่แถบนั้นหรือกลุ่มคนที่อยู่ห่างไกล แต่มีความเคารพนับถือต่อบริเวณพื้นที่นั้นๆ
จากร่องรอยของหลักฐานที่ได้กล่าวมาทั้งหมดแล้วนั้น ย่อมแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า บริเวณพื้นที่ของอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มีการอยู่อาศัยและการประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาและคติความเชื่อท้องถิ่นมาตั้งแต่ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะร่องรอยของหลักฐานการประกอบพิธีกรรมอย่างชัดเจนในสมัยทวารวดี และในปัจจุบันอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทก็ยังคงเป็นพื้นที่ที่ได้รับการเคารพนับถือของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง
จุดที่น่าสนใจสำหรับการประกาศให้อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในชื่อ ‘ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมาสมัยทวารวดี’ ของยูเนสโก ศาสตราจารย์ ดร.สายันต์ ไพรชาญจิตร์ อดีตคณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และอดีตอาจารย์ประจำภาควิชาการพัฒนาชุมชน คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เขียนอรรถาธิบายใน เฟซบุ๊ก Sayan Praicharnjit ถึงการพิจารณาคุณค่าอันโดดเด่นเป็นสากลของภูพระบาทในทัศนะของเขาดังนี้
‘ …ตามเกณฑ์ข้อ ๓: เป็นประจักษ์พยานของวัฒนธรรมสีมา (SIMA Culture) ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของอารยธรรมพุทธศาสนาทวารวดีในยุคแรกเริ่มประวัติศาสตร์ของดินแดนสุวรรณภูมิที่มีความเจริญรุ่งเรืองอยู่ในห้วงคริสต์ศตวรรษที่ ๖-๑๐
สีมาหรือเสมาหินมีจารึก บ้านดอนแก้ว อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี
ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จากระบบฐานข้อมูลภาพศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม
ตามเกณฑ์ข้อ ๕: เป็นประจักษ์พยานของแนวคิดและการปฏิบัติตามกฎแห่งการพึ่งพิงสัมพันธ์อันเกื้อกูล (Law of Interdependency) ระหว่างมนุษย์ (Human) กับธรรมชาติกายภาพ (Physical nature) และสิ่งเหนือธรรมชาติ (Supernature) ในการจัดการพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาอย่างต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลาไม่น้อยกว่า ๓,๐๐๐ ปี
กฎแห่งการพึ่งพิงสัมพันธ์ (Law of Interdependency) เป็นกฎธรรมชาติในชุดความรู้ ความเข้าใจ เรื่อง อิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท หัวใจของพุทธศาสนา ที่สอนให้รู้และเข้าใจว่าสรรพสิ่งล้วนเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่มีสิ่งใดมีสิ่งจําเป็นครบถ้วนสมบูรณ์ในตัวเอง ต่างก็เป็นเหตุปัจจัยของกันและกัน การเกิดขึ้นและการเปลี่ยนแปลงเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่ต้องพึ่งพิงสัมพันธ์กันอย่างเกื้อกูลให้ประโยชน์แก่กันและกันตลอดเวลา ไม่สามารถแยกออกไปอยู่เดี่ยวๆ โดดๆ ได้