ผู้เข้าชม
0
19 สิงหาคม 2567

๔. ชิ้นส่วนสะโพกหินทรายด้านหน้า มีลวดลายขนนกประกอบบริเวณลําตัวด้านข้างทั้งสองด้านแกะสลักเป็นลวดลายขนนกที่เป็นปึกแข็ง ๒ ชั้น ขนาดของชิ้นส่วนนี้กว้าง ๐.๕๐ เมตร ยาว ๑.๒๕ เมตร และสูง ๐.๔๙ เมตร พบอยู่ทางทิศตะวันตกห่างจากแนวฐานประมาณ ๓.๘๐ เมตร 

๕. ชิ้นส่วนบริเวณหน้าอก สลักจากหินทรายสีแดง ลักษณะแอ่นโค้ง ทับทรวงเป็นรูปกระจัง มีลวดลายขนนกและลายกลีบบัวซ้อนกันอยู่เป็นแถวขนาดกว้างประมาณ ๐.๑๘ เมตร ยาว ๐.๖๖ เมตร และสูง ๐.๓๖ เมตร พบบนฐานทางทิศตะวันออกห่างจากแนวฐานด้านทิศตะวันตกประมาณ ๗ เมตร

๖. ปีกครุฑหินทราย หินทรายสีน้ำตาล ขนาดกว้าง ๐.๔๓ เมตร ยาว ๐.๓๔ เมตร และสูง ๐.๕๒ เมตร เป็นปีกด้านขวา ลักษณะด้านหน้ามีลวดลายกนกเป็นแถวยาว ด้านล่างมีลวดลายขนนกพริ้ว ต้นแขนและข้อมือแกะเป็นลวดลายดอกประจำยาม (ลายดอกไม้สี่กลีบ) เป็นกําไลที่ต้นแขนและข้อมือโดยมีสายทําเป็นลายกลีบบัวซ้อน และมีลายขนนกขนาบอยู่ทั้งสองด้าน ด้านหลังของปีกนกนั้น แกะสลักเป็นลายกลีบบัวซ้อน และลายกนกขนาบอยู่คล้ายลวดลายด้านหน้า โดยแกะลวดลายเป็นแกนกลางไปตามความยาวของปีก ซึ่งมีลวดลายขนนกพริ้วประกอบอยู่ทั้งสองด้าน บริเวณโคนปีกด้านบนมีลอยบาก รูปตัวที (T) เพื่อประโยชน์ในการใช้โลหะยึดระหว่างชิ้นหินทรายที่ประกบเข้าด้วยกันให้มั่นคงมากขึ้น

๗. สะโพกหินทราย เป็นหินทรายสีน้ำตาล บริเวณส่วนเอวจนถึงต้นขานุ่งผ้าลายขนนก มีเข็มขัดคาดเอวเป็นลายกนกและกลีบบัวซ้อน หัวเข็มขัดเป็นลายดอกประจํายามซ้อนกัน ๒ ชั้น ด้านข้างสองข้างมีลายขนนกที่เป็นปีกแข็ง ๒ ชั้น ด้านซ้ายจะมีขนาดเล็กและสั้นกว่าขนาดกว้าง ๐.๕๕ เมตร ยาว ๑.๑๔ เมตร และสูง ๐.๕๐ เมตร พบอยู่ห่างจากฐานโบราณสถานด้านทิศตะวันตก ประมาณ ๐.๙๐ เมตร ใกล้กับชิ้นส่วนที่เป็นปึก

๘. ชิ้นส่วนลวดลายดอกไม้ แกะสลักจากหินทราย สภาพชำรุด ลวดลายมีลักษณะเป็นรูปร่างกลมซ้อนกัน ๓ วง กลางสุดเป็นลายดอกไม้สี่กลีบ ถัดออกมาเป็นลายลูกประคำ และลายกลีบบัวตามลำดับ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของวงกลมประมาณ ๐.๑๘ เมตร

๙. ชิ้นส่วนลวดลายดอกไม้หินทราย ลวดลายมีลักษณะเป็นรูปกลมรี ๓ วงซ้อนกันอยู่ คล้ายคลึงกับลวดลายดอกไม้ในข้อ ๘ แต่ชิ้นนี้มีขนาดใหญ่กว่า

ชิ้นส่วนครุฑที่พบจะกระจัดกระจายกันอยู่ และพบไม่ครบทุกชิ้น ส่วนหัวและปีกด้านซ้ายหายไป บางชิ้นแกะสลักไม่เสร็จ ถ้ามีความสมบูรณ์และเมื่อนำมาประกอบเข้าด้วยกัน ครุฑตัวนี้จะมีความสูงทั้งหมดประมาณ ๒.๕๐ เมตร

เศษภาชนะดินเผาที่พบในระหว่างการขุดแต่ง เป็นแบบเนื้อเครื่องดิน (Earthen Ware) เนื้อดินสีเทามีดินเชื้อผสมอยู่มาก ลักษณะปากผายออกหยักเป็นร่อง เป็นภาชนะแบบพื้นเมืองพบปนอยู่กับเศษหินทรายที่อัดทับถมเป็นพื้น บริเวณมุมตะวันออกเฉียงใต้ของโบราณสถาน
 

ประติมากรรมครุฑ เมื่อนำชิ้นส่วนที่พบมาประกอบกัน

ประติมากรรมนี้จะมีขนาดความสูงประมาณ ๒.๕ เมตร

ที่มา: อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์