ผู้เข้าชม
0
30 กรกฎาคม 2567

ยังมีการพบชิ้นส่วนแม่พิมพ์ต่างๆ ที่ยังไม่ทราบรูปแบบ เครื่องทองต่างๆ ทั้งที่ทำแบบตันและกลวง บางชิ้นทำแบบแท่งกลวงและใช้การขึ้นรูปถักร้อยที่หลายชิ้นแทบจะเหมือนแบบเดียวกับทางภูเขาทองฝั่งอันดามัน ซึ่งแสดงถึงการเดินทางติดต่อกันอย่างแน่แท้ระหว่างฝั่งอันดามันทั้งที่เขมายี้และภูเขาทองกับทางท่าชนะ แหวนทองคำที่มีหัวแหวนเป็นหินกึ่งรัตนชาติ หัวธนูทำจากสำริด ชิ้นส่วนของเบี้ยทำจากกระดองเต่าที่อาจใช้ในการเล่นสกา เศษเครื่องปั้นดินเผาแบบฮั่นที่มีลายประทับต่างๆ ที่มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งน่าจะมีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๕-๘ เศษภาชนะแบบราชวงศ์ถังในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เพราะก็อยู่ไม่ห่างจากแหลมโพธิ์ที่อ่าวบ้านดอน ซึ่งพบเศษภาชนะในยุคสมัยนี้เป็นจำนวนมาก และเครื่องประดับรูปพระจันทร์เสี้ยวและดาวที่เป็นรูปสัญลักษณ์ในทางศาสนาอิสลามและนิยมกันมากในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑

นอกจากนี้ที่น่าสนใจคือการพบชิ้นส่วน ‘ลูกปัดแก้วที่มีฟอยล์สีทองด้านใน' [Gold-foil glass bead] เป็นรูปเทพปกรณัมแบบกรีก-โรมัน ซึ่งเป็นเทคนิคการทำลูกปัดฟอยล์สีทองในยุคแรกอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๕-๗

มีการพบกลุ่มพระพิมพ์จำนวนหนึ่งในชั้นดินที่อยู่ในบริเวณที่ราบริมน้ำใกล้เชิงเขา และพบที่เดียวในบริเวณท่าชนะที่มีการประดิษฐานพระพุทธรูปและร่องรอยของพระพุทธรูปหินทรายแบบไชยาตอนปลายในถ้ำเขาประสงค์ ซึ่งมีถ้ำลักษณะเช่นนี้กว่า ๒๐ แห่ง ซึ่งมีการแตกหักเสียหายทั้งหมด เป็นการพบพระพิมพ์ที่ไม่ได้นำไปใส่ไว้ตามถ้ำเพราะอาจแตกหักเสียหายมาแต่ในอดีตแล้ว เป็นพระพิมพ์เนื้อดินพิมพ์พระพุทธเจ้าปางสมาธิ และประทับนั่งห้อยพระบาทบนแท่นบัลลังก์และอาจมีพระพุทธเจ้าห้าพระองค์โดยรอบ ซึ่งเป็นพระพิมพ์แบบศรีวิชัยที่พบในแถบพุนพินและควนสราญรมย์ที่อยู่ต่อเนื่องในเขตอ่าวบ้านดอนลงไป นอกจากนี้บริเวณใกล้กันยังพบเหรียญเพนนีทองแดงในระดับชั้นดินใกล้กัน พบการเขียนสลักลงในเนื้อเหรียญเป็นภาษาอังกฤษที่อาจมีอายุไม่มากนักและอาจเรียกว่าเป็น Luck Penny แสดงให้เห็นถึงความปะปนการใช้งานในพื้นที่บริเวณเขาประสงค์และท่าชนะที่อาจมีการขุดค้นหาของเก่ามาเป็นระยะเวลายาวนานกว่า ๒๐๐ ปีก็ได้ เพราะเขาประสงค์เป็นจุดผ่านหรือจุดแวะพักของนักเดินทางชาวเรือมาตลอดทุกยุคสมัย ดังที่พบวัตถุที่มีความแตกต่างหลากหลายที่มา ความเชื่อและช่วงเวลา จนการเดินทางทางทะเลนั้นเลิกไปเมื่อราวร้อยปีก่อน

ความสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้บริเวณในโรงเรียนท่าชนะห่างจากปากน้ำหาดสวนสนราว ๕ กิโลเมตร ที่พบแนวพื้นที่สี่เหลี่ยมบางส่วนที่น่าจะเป็น Citadel ของชุมชนโบราณอีกแห่งหนึ่ง เพราะพบศาสนวัตถุแบบฮินดู พบเอกมุขลึงค์และเศียรพระวิษณุซึ่งมีแนวคิ้วต่อกันแบบการรับรูปแบบทางวัฒนธรรมที่นิยมสร้างพระพุทธรูปแบบยุคทวารวดีทางภาคกลาง และอาจจะมีเทพอื่นๆ ที่สวมเครื่องประดับศีรษะแบบเทริดขนนก โดยน่าจะมีความร่วมสมัยกับชุมชนพุทธศาสนาที่เมืองไชยาในยุคสมัยศรีวิชัยแรกๆ หรือในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔

บริเวณนี้อาจจะเป็นลักษณะของชุมชนช่างฝีมือที่แบ่งออกมาจากทาง ‘เขาสามแก้ว’ หรือจากกลุ่มช่างทางแถบ ‘บางกล้วย/ภูเขาทอง’ หรือแถบ ‘เขมายี้’ ทางฝั่งอันดามัน แต่ทั้งหมดนี้คือช่างฝีมือที่มีฝีมือและแนวคิดในการผลิตสิ่งของที่เป็น เครือข่ายแบบเดียวกัน เดินทางข้ามไปมาในระหว่างคาบสมุทรโดยการพึ่งพิงชุมชนและผู้คนในกลางแผ่นดินตามแถบเทือกเขาและที่สูงและตามลำน้ำ โดยใช้พาหนะที่แน่นอนคือ ‘เรือขุด’ และการเดินทางด้วย ‘ช้าง’ อาจจะสั่งนำวัตถุดิบขนส่งมาจากแหล่งเดียวแล้วแจกจ่ายออกไป 

ช่างฝีมือแถบ ‘ท่าชนะ’ อาจจะพิถีพิถันคัดเลือกวัตถุดิบได้ดีกว่าหรือมีโอกาสมากกว่า จึงสามารถผลิตชิ้นงานที่ดูสวยงามกว่าเล็กน้อยก็เป็นได้ และบริเวณนี้ยังสามารถเดินทางเข้าสู่ดินแดนที่มีแหล่งทรัพยากรภายในที่รอบอ่าวบ้านดอนไปยังต้นน้ำพุมดวงและแม่น้ำตาปี ซึ่งพบร่องรอยของการเป็นแหล่งแร่ดีบุก โดยที่พบมโหระทึกทางด้านในแถบริมแม่น้ำพุมดวงที่อำเภอพุนพินและที่ไชยารวมทั้งด้านหลังเขาหลวงที่ฉวาง ส่วนบริเวณริมชายฝั่งทะเลนั้นก็พบด้านหน้าเขาหลวงตั้งแต่ที่สิชล ท่าศาลา จนถึงแถบอำเภอเมืองบ้านท่าเรือ และเรื่อยลงมาจนถึงจะนะและตรังกานู

กลุ่มพิเศษ

อย่างไรก็ตาม พื้นที่อีกบริเวณหนึ่งที่น่าสนใจและอาจจะเป็นกลุ่มที่มีอายุร่วมสมัยในราวพุทธศตวรรษที่ ๕-๖ หรือหลังจากนั้น ในบริเวณช่วงต้นของแผ่นดินบกที่ทะเลสาบสงขลาด้านบนที่พบหลักฐานประเภทลูกปัดที่ทำจากหินกึ่งมีค่า ใกล้ชายฝั่งทางอ่าวไทย เช่น ที่ริมคลองบ้านโคกทอง อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นคลองขุดเชื่อมชายฝั่งทะเลอันดามันและทะเลสาบสงขลา เป็นเส้นทางเก่าที่ใช้มาโดยตลอดทุกยุคสมัย การพบหลักฐานในยุคสุวรรณภูมิ แสดงถึงในบริเวณที่ต่ำลงมาจากแนวคอคอดกระ 

โดยบริเวณนี้น่าจะผ่านไปทางเขาปู่เขาย่าในจังหวัดพัทลุง ข้ามเขาผ่านไปยังอำเภอนาโยงและอำเภอห้วยยอด ในย่านนี้มีแหล่งทรัพยากรที่เป็นแหล่งโบราณคดีสำคัญที่อยู่บริเวณเทือกเขาหินปูน ริมแม่น้ำตรังหลายแห่ง โดยน่าจะเป็นแหล่งทรัพยากรดีบุก และสัมพันธ์กับคลองท่อมที่น่าจะเป็นเมืองท่าการค้าขนาดใหญ่ในยุคคาบเกี่ยวกับยุคสุวรรณภูมิ ราวพุทธศตวรรษที่ ๒-๗ และหลังจากนั้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๗-๘ ที่มีความเคลื่อนไหวทางการค้าและสร้างผลผลิตมากในแถบคอคอดกระและคลองท่อมเติบโตขึ้นแทนที่ในยุคต่อมา และน่าจะเป็น เมืองท่าตักโกลา ที่เจริญขึ้นมาจนกลายเป็นเมืองท่าแบบเอมโพเรียอย่างเต็มที่ ทดแทนเมืองกึ่งก่อนเมืองท่าในบริเวณคอคอดกระในยุคที่ปโตเลมีบันทึกไว้ราวพุทธศตวรรษที่ ๗-๘ แล้ว

อีกประการหนึ่งก็คือ ความสำคัญของแร่ธาตุในภูมิภาคนี้ น่าจะเป็นความขึ้นชื่อของแหล่งทรัพยากรสำคัญในบริเวณคาบสมุทรและแผ่นดินภายใน โดยเฉพาะพื้นที่ในประเทศไทย ที่มักพบแหล่งโบราณคดีที่ใช้ขวานหินขนาดใหญ่ หรือขวานจงอยปากนกหรือขวานผึ่งขนาดยาวใหญ่ ในบริเวณพื้นที่ภายในภูเขาหรือเทือกเขาต่างๆ และเป็นแหล่งที่มีทรัพยากร เช่น ดีบุกที่มากับลำน้ำตามธรรมชาติ โดยการใช้เครื่องมือหินขนาดใหญ่เหล่านี้เป็นหลักในการผลิตเพื่อร่อนแร่แบบเก่าแก่ที่สุดที่ยังไม่ต้องใช้เครื่องทุ่นแรงอื่นๆ ในการผลิต  

จากการศึกษาพื้นที่และโบราณวัตถุต่างๆ ที่พบในบริเวณคอคอดกระและเส้นทางต่างๆ มีข้อเสนอและสรุปได้ว่า แม้จะมีกลุ่มเส้นทางข้ามคาบสมุทรหลายแห่ง และจัดกลุ่มได้ในแนวระนาบที่ต่างกัน และเกิดขึ้นเหลื่อมเวลากันเล็กน้อย เมื่อวิเคราะห์จากหลักฐานที่ปรากฏ แต่จดหมายเหตุราชวงศ์ฮั่นหรือฮั่นซูกล่าวถึงการเดินทางข้ามคาบสมุทรและเรียกเมืองท่า ที่ในทางระดับของความเจริญน่าจะเป็นเมืองท่ายุคแรกเริ่มที่ก่อตัวและสัมพันธ์กันอย่างหลวมๆ ซึ่งยังไม่มีระบอบราชามหากษัตริย์ แต่ก็เป็นเมืองท่านานาชาติในระดับที่มีผู้ควบคุม ซึ่งตรงนี้ควรหารูปแบบทางระดับสังคมเพื่ออธิบายในความสัมพันธ์เหล่านี้ แต่ก็รูปแบบบ้านเมืองแบบเมืองท่าแบบ Thalassocracy ในยุคเริ่มแรกก็ได้