ประติมากรรมครุฑ ขาด้านขวาทำจากหินทรายสีเทา
ขาด้านซ้ายทำจากหินทรายสีแดง
ข้อมูลที่ได้นี้มีน้อย เนื่องจากถูกขุดทำลายดังกล่าวแล้ว นับว่าน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง แต่หลักฐานที่พบนี้ส่วนหนึ่งก็ให้ความกระจ่างเกี่ยวกับการตั้งหลักแหล่งของชุมชนโบราณที่เมืองครุฑนี้ได้ในระดับหนึ่ง ความแห้งแล้งกันดารคงเป็นสาเหตุสําคัญที่ทําให้เมืองครุฑนี้ต้องถูกทิ้งร้างไปในช่วงระยะเวลาอันสั้น
โบราณสถานขนาดเล็กที่พบภายในตัวเมืองและพบเศษชิ้นส่วนประติมากรรมรูปครุฑนั้น อาจเป็นที่ตั้งศาลเทพารักษ์ประจําเมือง เพราะคติความเชื่ออย่างหนึ่งของครุฑคือการเป็นผู้พิทักษ์
ในวรรณคดีภาษาบาลีให้ครุฑทําหน้าที่เสมือนผู้พิทักษ์สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ บุคลิกของครุฑก็เข้มแข็งและมีอํานาจ ครุฑจึงแสดงความหมายในด้านการเป็นผู้พิทักษ์ศาสนสถานด้วย ประติมากรรมลอยตัวรูปครุฑนี้ปกติจะพบน้อยมากในประเทศไทย
ครุฑที่เมืองครุฑมีลักษณะเป็นแบบพื้นเมืองซึ่งไม่เคยพบลักษณะเช่นนี้มาก่อนเลยทั้งในประเทศไทยและกัมพูชา ถ้ามีความสมบูรณ์ครุฑนี้จะมีความสูงประมาณ ๒.๕๐ เมตร ซึ่งนับว่าใหญ่มาก
อย่างไรก็ตาม ประติมากรรมรูปครุฑนี้ก็ยังแกะสลักไม่เสร็จเรียบร้อย ประกอบกับตัวโบราณสถานเองก็ถูกลักลอบขุดทําลายไปมาก แม้แต่ส่วนฐานที่เหลืออยู่ก็ไม่สมบูรณ์ไม่พบหลักฐานที่เป็นชิ้นส่วนลักษณะของเครื่องบนโบราณสถานเลยนอกจากศิลาแลงก้อนสี่เหลี่ยมผืนผ้าธรรมดาเท่านั้น
สำหรับโบราณวัตถุที่สำคัญก็คือ ประติมากรรมครุฑองค์ใหญ่ที่แตกแยกเป็นชิ้นส่วนต่างๆ ดังนี้
๑. ขาครุฑหินทราย (๑) ชิ้นแรกที่พบจากการลักลอบขุด แกะสลักจากหินทรายสีแดง เป็นส่วนของครุฑบริเวณข้อเท้า จนถึงบริเวณเข่าตอนล่างสลักเป็นลวดลายดอกประจํายาม บริเวณหัวเข่ามีลวดลายขนนกประกอบอยู่ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ขนาดกว้าง ๐.๕๔ เมตร และสูง ๐.๕๗ เมตร
๒. ขาครุฑหินทราย (๒) คล้ายคลึงกับชิ้นแรกที่พบจากการลักลอบขุด พบในระหว่างการขุดแต่งห่างจากแนวฐานด้านตะวันตกประมาณ ๒.๕๐ เมตร ลักษณะเป็นหินทรายสีเทา เป็นส่วนของขาครุฑบริเวณข้อเท้า จนถึงบริเวณหัวเข่า ตอนล่าง สลักเป็นลวดลายดอกประจํายาม ตอนบนเป็นลวดลายขนนกประกอบอยู่ ขนาดกว้าง ๐.๕๙ เมตร และสูง ๐.๕๘ เมตร
๓. เท้าครุฑหินทราย พบจํานวน ๒ ชิ้น คือส่วนที่เป็นเท้าขวาและเท้าซ้าย ส่วนที่เป็นเท้าขวาโกลนไว้เป็นรูปร่างเท่านั้น แกะสลักยังไม่เสร็จเรียบร้อย ส่วนที่เป็นเท้าซ้ายนั้นประกอบด้วยนิ้ว ด้านหน้า ๔ นิ้ว และด้านหลังอีก ๑ นิ้ว ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าและยังแกะสลักไม่เรียบร้อยเช่นกัน ปลายนิ้วด้านหน้าจะแหลมเป็นเล็บชัดเจน ขนาดของชิ้นส่วนเท้าครุฑแต่ละชิ้นมีขนาดกว้างประมาณ ๐.๖๐ - ๐.๖๗ เมตร ยาวประมาณ ๑๐.๔ - ๑.๑๖ เมตร และสูง ๐.๔๗ – ๐.๕๐ เมตร ขุดพบบริเวณทิศเหนือของฐานโบราณสถานในลักษณะคว่ำ