ผู้เข้าชม
0
30 กรกฎาคม 2567

บริเวณต้นน้ำริมคลองท่าไม้แดง พบหลักฐานว่าพบขวานหินขนาดใหญ่หลายชิ้น บริเวณริมคลองท่าไม้แดง โบราณวัตถุประเภทนี้บ่งบอกถึงน่าจะมีการทำเหมืองแร่ดีบุกที่ใช้วิธีการร่อนแร่บริเวณริมน้ำ โดยใช้แท่งขวานหินขนาดใหญ่ดังกล่าวเป็นเครื่องมือช่วยโกยดินหินทรายและแร่บริเวณริมตลิ่ง ต้นน้ำบริเวณคลองท่าไม้แดงนั้นน้ำไหลแรงมากในฤดูน้ำและสามารถหลากลงได้เร็วจนเกิดภาวะน้ำท่วมได้เสมอ การเดินทางข้ามคาบสมุทรในบริเวณนี้จึงอาจจะใช้เส้นทางลงสู่ลำคลองไชยาได้หลากหลายตามแต่ความสะดวก ซึ่งอาจต้องใช้เวลาในการสำรวจพื้นที่ให้แน่ชัดต่อไปอีกตามความเหมาะสม

 

ขวานหินมีบ่า ขนาดความยาว ๔๙ เซนติเมตร พบที่ริมคลองท่าไม้แดง1

จากนั้นเดินทางตามแนวคลองท่าไม้แดงไปสมทบกับคลองไชยา ต้องเดินทางผ่านลำน้ำที่เป็นบริเวณเมืองไชยาในยุคต่อมา บริเวณนี้อาจจะเดินเท้าหรือใช้เรือเดินทางออกปากน้ำคลองไชยาที่บ้านดอนประดู่ แล้วเลียบอ่าวเพื่อวกเข้าแหลมโพธิ์ที่ปากน้ำท่าชนะ ล่องตาม คลองท่าชนะ ผ่านพุมเรียงขึ้นเหนือไปเรื่อยๆ เลียบขนานชายหาดฝั่งทะเลด้านนอกและสบกับคลองท่าม่วงหรือคลองประสงค์ใช้ระยะตามลำคลองจนถึงปากคลองท่าชนะด้านเหนือราว ๒๐-๒๕ กิโลเมตร ตามแนวนี้ทั้งสองฝั่งถนนของชาวบ้านเลียบ เขาประสงค์ จากแนวปากคลองท่าชนะ คือบริเวณที่มีการผลิตลูกปัดและสินค้าทรงคุณค่าต่างๆ โดยแหล่งที่พบตั้งอยู่บริเวณ ‘สันทรายเก่า’ ที่เป็นทรายคุณภาพในระดับทรายแก้ว [Glass sand] ทีเดียว โดยพื้นที่แหล่งผลิตอยู่บริเวณชายเนินลาดเชิงเขาใหญ่หรือเขาประสงค์ อาณาบริเวณทั้งหมดของพื้นที่ทำงานหัตถศิลป์ต่างๆ เหล่านี้มีเนื้อที่เท่าไหร่นั้นยังไม่ชัดเจน ต้องสำรวจละเอียดให้ทั่วบริเวณ แต่ชาวบ้านกล่าวว่า พื้นที่แทบทุกแห่งที่พบโบราณวัตถุนับจากชั้นดินด้านบนลงไปจนถึงชั้นทรายละเอียดด้านล่างไม่เกิน ๑-๑.๕๐ เมตร ด้านล่างชั้นทรายไม่มีโบราณวัตถุปนอยู่แล้ว

วัตถุสิ่งของที่แสดงถึงการเป็นแหล่งผลิตลูกปัดหินกึ่งรัตนชาติและลูกปัดแก้ว ซึ่งพบว่ามีการทำลูกปัดเป็นรูปสัญลักษณ์และรูปสัตว์สัญลักษณ์มงคลต่างๆ แบบที่นิยมในช่วงต้นพุทธกาลและพบเช่นเดียวกันกับที่เขาสามแก้วจนเป็นเอกลักษณ์และมีจำนวนมากซึ่งอยู่ในการเก็บรักษาของนักสะสม  

อีกทั้งยังพบชิ้นส่วนของรอกทดแรงทำจากดินเผา ชิ้นส่วนของลูกปัดหินที่ยังคงมีหัวเหล็กหักค้างสำหรับเจาะ ซึ่งน่าจะตรวจดูว่าที่ด้านปลายเป็นหัวเจาะทำจากเพชรหรือไม่ แม่พิมพ์สำหรับขึ้นรูปแหวนที่มีการประทับรูปสัญลักษณ์แบบนันทิยาวัตตะหรือตรีรัตนะ และวัตถุอื่นๆ จำนวนมาก โดยลูกปัดหินจากแถบท่าชนะนี้ได้ชื่อว่ามีความใส สวย สะอาดหรือที่เรียกในหมู่นักสะสมว่ามีน้ำงาม

 

ต้นน้ำคลองท่าไม้แดง ก่อนไหลมารวมกับคลองไชยา