จากนั้นเดินทางโดยใช้คลองพะโต๊ะอีกราว ๓๐ กิโลเมตร ก็จะถึง ‘เขาเสก’ ซึ่งเป็นจุดพักสำคัญและน่าจะต่อเนื่องมาจนถึงยุคปัจจุบันเมื่อเกิดเมืองหลังสวน เพราะอีกฝั่งนั้นเป็นที่ตั้งของเมืองหลังสวนที่อยู่ภายใน จากนั้นต้องเดินทางผ่านลำน้ำหลังสวนเพื่อออกปากน้ำหลังสวนอีกราว ๑๒ กิโลเมตร
ที่เขาเสกพบว่าที่ราบเชิงเขาต่อกับลำน้ำหลังสวนหรือน้ำพะโต๊ะมีการพบโบราณวัตถุจำนวนมาก และวัตถุสำคัญที่นำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชุมพร เป็นชามปากกว้างก้นตื้นแบบ ‘ภาชนะสีดำขัดมัน’ [Black Polished Ware] ด้านนอกวาดลวดลายเป็นลูกคลื่น เพราะพบตามแหล่งโบราณคดีหลายแห่งในอินเดียทางชายฝั่งเบงกอลและมีการผลิตต้นทางจากทางเหนือ ตั้งแต่ก่อนพุทธ-ศาสนากำเนิดขึ้นราว ๒๐๐ ปี ทำจากดินเผาเนื้อละเอียด เนื้อบาง เผาคุณภาพดีและมีการเคลือบน้ำเคลือบบางๆ ก่อนจะนำมาขัดมัน สีของผิวภาชนะมีตั้งแต่สีดำสนิท น้ำตาลคล้ำ เทา และแดง ถือเป็นภาชนะมีมูลค่าสูงของชนชั้นนำ โดยสันนิษฐานอายุที่ปรากฏทางใต้ของอินเดียอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒ ถึง ๗ พบว่าแหล่งโบราณคดีแทบทั้งหมดที่พบภาชนะสีดำขัดมันคือศูนย์กลางทางพุทธศาสนายุคเริ่มแรกในอินเดีย
และที่จัดแสดงไว้มีแม่พิมพ์หินหล่อเครื่องประดับแก้วที่รูปลักษณ์ของแก้วที่หล่อเช่นนี้พบในแหล่งโบราณห่างไกลออกไป เช่นที่บ้านเชียงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีเครื่องประดับรูปสัตว์สองหัวทำจากหินหยกไต้หวัน หรือ Nephrite และตราประทับที่มีอักษรพราหมี ๔ ตัวเทียบได้กับตัวอักษร ศ ฆ ย ศ ซึ่งยังไม่ทราบความหมาย ด้านล่างตัวอักษรเป็นสัญลักษณ์รูปนันทิยาวัตตะหรือตรีรัตนะ เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชุมพร ประเมินอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๔–๙
บริเวณเขาเสกนี้ น่าจะเป็นแหล่งรวบรวมสินค้าสำคัญ ส่วนจะเป็นแหล่งผลิตด้วยหรือไม่นั้นไม่แน่ใจนัก และอาจจะเป็นชุมชนในระดับเมืองขนาดย่อยบริเวณชายฝั่งอ่าวไทย และเส้นทางจาก ‘บางกล้วย/ภูเขาทอง’ สู่ ‘เขาเสก’ ผ่านทางคลองพะโต๊ะ น่าจะเป็นเส้นทางสำคัญ เพราะสามารถเดินทางได้ค่อนข้างสะดวกกว่าเส้นทางอื่น
เขาเสก ฝั่งตรงข้ามคือตัวอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร
บริเวณที่ราบเชิงเขาติดกับลำน้ำพะโต๊ะหรือคลองหลังสวน
การพบว่ามีการนำมโหระทึกเข้าไปยังบริเวณบ้านในหยานและบ้านปังหวานทั้งสองแห่งที่อยู่บนเส้นทางลำน้ำพะโต๊ะ ยิ่งทำให้ต้องคำนึงถึงความสำคัญของเส้นทางดังกล่าวที่มีชุมชนที่มีพัฒนาการที่ซับซ้อนกว่าหรือเจริญในทางโครงสร้างสังคมมากกว่าชุมชนในบริเวณตามถ้ำหรือเพิงผาเขาหินปูนที่มีการใช้พื้นที่ตามป่าเขา เพราะเป็นชุมชนที่ควบคุมการขนส่งบริเวณริมลำน้ำพะโต๊ะหรือลำน้ำหลังสวน ที่ใช้เชื่อมเดินทางระหว่างคาบสมุทรที่ค่อนข้างสะดวกมากกว่าการเดินทางในเขตแรกทางคอคอดกระด้านบน มีการใช้การฝังศพที่น่าจะเป็นผู้มีสถานภาพขั้นสูงสุดของชุมชนในละแวกนี้ในพิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย มีการรับวัฒนธรรมทางวัตถุต่างๆ เพื่อใช้เป็นสิ่งของมีคุณค่าที่อุทิศให้กับศพ เช่น รูปแบบภาชนะดินเผาต่างๆ จากแดนไกล ลูกปัดมีคุณค่าสูงจากทางฝั่งอนุทวีปอินเดียที่บรรจุลงภายในมโหระทึกขนาดใหญ่ที่ทำจากสำริดจากทางฝั่งทะเลจีนใต้และฝังไว้ที่ริมคลองพะโต๊ะในจุดกึ่งกลางของเส้นทางการเดินทางข้ามคาบสมุทรสยาม
มโหระทึกที่เป็นของหายากต้องขนส่งจากแดนไกลมากจนถึงคาบสมุทร และปรากฏร่องรอยว่าเดินทางเรื่อยไปจนถึงเกาะชวาและบาหลีอันเป็นสถานที่บรรจบของการเดินเรือจากอนุทวีปอินเดียสู่ดินแดนสุวรรณภูมิทั้งทางคาบสมุทรและหมู่เกาะ จึงน่าจะมีคุณค่ามหาศาลเมื่อช่วงต้นพุทธกาลนั้น เราไม่ทราบว่าชุมชนดั้งเดิมผู้เป็นเจ้าของพื้นที่ที่กึ่งกลางคาบสมุทรนี้จะใช้ ‘ตี’ ในพิธีกรรมเช่นเดียวกับเจ้าของวัตถุในวัฒนธรรมต้นทางอย่างทางจีนตอนใต้หรือทางดองซอนในเวียดนามตอนเหนือหรือไม่ หรือเพียงแต่นำมาใช้เป็นเครื่องบ่งบอกสถานภาพชนชั้นที่สูงกว่าผู้อื่นในชุมชนและนำไปอุทิศเพื่อใส่กระดูกและของอุทิศประกอบในพิธีกรรมการฝังศพครั้งที่สอง ซึ่งก็เป็นวัฒนธรรมเกี่ยวกับการตายที่น่าจะนิยมปฏิบัติกันในช่วงหลังจากการฝังศพแบบครั้งเดียวไปแล้ว การฝังศพครั้งที่สองปรากฏในแถบชุมชนดั้งเดิมแถบหมู่เกาะและชาวเขาในป่าสูงเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นทางเกาะไต้หวันหรือชาวเกาะที่ใช้โลงไม้นำไปไว้บนหน้าผาหรือถ้ำต่างๆ ‘มโหระทึก’ แบบเฮเกอร์ I ดังกล่าวถูกเก็บรักษาโดยการส่งมอบจากชาวบ้านปังหวานและยังไม่เห็นลวดลายหรือรูปแบบของมโหระทึกนี้แต่อย่างใด
แม่พิมพ์หินหล่อเครื่องประดับแก้ว เครื่องประดับรูปสัตว์สองหัว
และตราประทับที่มีลายสัญลักษณ์นันทิยาวัตตะหรือตรีรัตนะ พบที่เขาเสก