บริเวณตรงข้าม ‘วัดปังหวาน’ เคยเป็นพื้นที่ราบชายตลิ่งและน้ำเซาะชายตลิ่งพังไปหลายสิบปีมากกว่า ๒๐-๓๐ เมตร ‘อาจารย์สุนทร เกิดด้วง’ ผู้เป็นทั้งเจ้าของที่และผู้พบโบราณวัตถุในกลุ่มนี้พบกลองมโหระทึกฝังอยู่ในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ภายในพบชิ้นส่วนกะโหลก ฟัน และกระดูกมนุษย์บางส่วน อันแสดงอย่างชัดเจนว่าเป็นแนวคิดวิธีการฝังศพครั้งที่สอง ซึ่งกล่าวกันว่าที่เขาสามแก้วก็พบการบรรจุใส่กระดูกและเครื่องประกอบใส่ลงไปในกลอง ‘มโหระทึก’ แบบเฮเกอร์ I
อาจารย์สุนทร เกิดด้วง และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลปังหวาน
ให้ข้อมูลรายละเอียดการพบมโหระทึกที่ริมตลิ่งลำน้ำพะโต๊ะฝั่งตรงข้ามวัดปังหวาน
นอกจากนี้ ในกลองที่ใส่สิ่งของร่วมกับชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์นี้ยังพบเบ้าหล่อหัวขวานสำริดด้านเดียว ๑ ชิ้น ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า พบไม่บ่อยนักในบริเวณแหล่งโบราณคดีในแถบคาบสมุทร แต่จะพบมากในแถบภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เครื่องประดับทองแบบต่างหูตันมีน้ำหนัก ๒-๓ ชิ้น กำไลทำจากเนื้อเงิน กำไลทำจากหินควอตซ์หนาหนักสีใสขุ่นและสีคล้ำขุ่น ๔ ข้างหรือ ๒ คู่ที่มีรูปแบบคล้ายกัน กำไลหินสบู่ซึ่งแตกหักเป็นชิ้นๆ แต่น่าจะเป็นหินหาได้ยากจากแดนไกล หินกึ่งมีค่าพวกคาร์เนเลียนรูปแบบรีและกลมขนาดใหญ่ ซึ่งลูกปัดคาร์เนเลียนแบบกลมมีการฝังลายเส้นสีขาวคาด [Etched carnelian beads] โดยรอบหลายชิ้น ลูกปัดสีม่วงเข้มโปร่งใสและลูกปัดสีเขียวแบบสีเดียวจำนวนมาก รวมทั้งก้นของภาชนะสำริดแบบก้นภาชนะแบบมีปุ่ม [Knobbed ware] ที่น่าจะเป็นแบบสัดส่วนดีบุกสูงและผลิตขึ้นจากการหล่อ ๑ ชิ้น รวมทั้งปากภาชนะสำริดมีการประดับลวดลายเรขาคณิตที่น่าจะเป็นแบบวัฒนธรรมดองซอน ขันสำริดแบบสัดส่วนดีบุกสูง [High tin bronze] ที่เนื้อบาง แลเห็นสีทองมันวาวภายในภาชนะชัดเจน
และผู้พบกล่าวว่า พบโดยลักษณะเป็นการรวบปากภาชนะให้ม้วนหุบเข้าหากัน และด้านในไม่มีวัตถุอื่น แต่ก็อาจบรรจุหรือห่อสิ่งของที่เป็นสารอินทรีย์ที่ย่อยสลายได้และมีความสำคัญต่อการบรรจุในพิธีกรรมการตายหรือการฝังศพครั้งที่สองนั้น ถือว่าการพบการฝังศพในมโหระทึกที่บ้านปังหวานนี้ได้ข้อมูลค่อนข้างมากและสมบูรณ์กว่าที่อื่นๆ โดยความพยายามอนุรักษ์ของทั้งเจ้าหน้าที่รัฐคือทางนายกองค์การบริหารส่วนตำบลปังหวานและเจ้าของที่คือ ‘อาจารย์สุนทร เกิดด้วง’ ได้นำกำไลคู่หนึ่งและลูกปัดทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งเดินทางมายังพะโต๊ะ ส่วนมโหระทึกนำไปมอบให้กับกองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร กรุงเทพฯ แล้วเช่นกัน ส่วนพื้นที่อื่นๆ รอบนอกใกล้กับที่พบมโหระทึก ก็พบพวกเครื่องมือเหล็กจำนวนมากและลูกปัดอีกจำนวนหนึ่ง แต่เจ้าของพื้นที่ไม่ได้มีการขุดค้นหาสิ่งของมากนักและบริเวณนี้มีการห้ามปรามจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นด้วย จึงทำให้การหาสิ่งของที่บ้านปังหวานหยุดไป
แผ่นส่วนก้นภาชนะแบบมีปุ่มด้านใน [Knobbed Ware] กำไลงาช้าง
เครื่องประดับทองคำแบบตัน และแม่พิมพ์หัวขวาน
บริเวณบ้านปังหวานนี้ยังเดินทางลัดเลาะไปออกบริเวณต้นน้ำของคลองละแมได้ และพบแหล่งโบราณคดีในบริเวณต้นน้ำละแมที่ ‘บ้านรุ่งเรือง’ ตำบลละแม อำเภอละแม จังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นหมู่บ้านเกิดใหม่ ชาวบ้านเดินทางมาแสวงหาที่ทำกินจากที่ต่างๆ และชาวบ้านแถบปังหวานกล่าวว่าเป็นเส้นทางลัดที่จะเดินทางไปยังแถบชายฝั่งหรือชุมชนในเขตอำเภอละแม จังหวัดชุมพร ได้พบชิ้นส่วนของภาชนะสำริด ลูกปัดทองคำ ลูกปัดสีม่วงเข้มโปร่งใสแบบเดียวกับที่พบในแถบบ้านปังหวานและลูกปัดหินอาเกต