พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี ประดิษฐานอยู่กลางโบราณสถานหมายเลข ๑
ที่อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์
ที่มา: อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์
บริเวณตัวปราสาทตั้งอยู่นั้นเป็นอีกชั้นหนึ่ง เมืองนี้มีความกว้างประมาณหนึ่งกิโลเมตร ซึ่งมีขนาดใกล้เคียงกับเมืองโกสินารายณ์ แล้วปราสาทนั้นไม่เหมือนขอม เพราะตัวปราสาทเป็นที่ประดิษฐานประติมากรรมตามแบบความเชื่อของพุทธศาสนาแบบมหายาน และมีประติมากรรมที่เรียกว่า ‘พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี’ อยู่ที่นั่น
เมืองสิงห์เป็นเส้นทางสำคัญบนการคมนาคมในลุ่มน้ำแควน้อยแล้วตัดไปด่านเจดีย์สามองค์โดยตรง เพราะเรามีการติดต่อกับทางมอญ เมาะตะมะ สะเทิม ซึ่งอยู่ในเส้นทางนี้ เพราะในเขตทองผาภูมิมีการขุดพบร่องรอยของแหล่งโบราณคดีในสมัยทวารวดีตอนปลาย ถ้าเราไปหยุดที่เมืองกาญจนบุรีเก่าที่พบร่องรอยพุทธศาสนามีสถูปแบบทวารวดี ถ้าไปตามทางนั้นตัดมาในแนวทางนี้ แล้วจากนี้ไปยังลำน้ำแควน้อยและไปยังด่านเจดีย์สามองค์อีกครั้ง
มีกลุ่มพื้นที่หกถึงเจ็ดแห่งที่อยู่ร่วมสมัยกันที่มีปราสาทสัมพันธ์กับมหายานในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เช่น ที่ลพบุรี คือ พระปรางค์สามยอด ถัดจากปรางค์สามยอดเข้ามาในเขตสุพรรณบุรี ก่อนจะถึงสุพรรณบุรีจะมีเนินทางพระ ที่เดิมบางนางบวช บริเวณนี้พบแต่ฐาน แล้วมาถึงบริเวณที่เรียกว่า ‘ไร่รถ’ บริเวณนั้นเป็นเมือง แต่พังเสียหายทั้งหมด
แล้วพื้นที่ต่ำจากนั้นจะเข้ามาที่เมืองโกสินารายณ์ พื้นที่ต่อไปคือ ราชบุรีและอีกแห่งหนึ่งที่เพชรบุรี เมืองเหล่านี้อยู่ร่วมสมัยกันทั้งสิ้น ทำให้เห็นว่า มีเมืองยุคหนึ่งในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เกิดขึ้นเนื่องในคติมหายานก่อนที่พุทธศาสนาแบบเถรวาทจะเข้ามาครอบงำ เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านในขณะนั้น ฉะนั้นมีหลายจุดชี้ให้เห็นว่า เมืองไทยเปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนามหายาน และสร้างขึ้นพร้อมกันและในช่วงเวลา ๕๐ กว่าปีก็ได้หายไป
แต่อย่างไรก็ตาม บริเวณเมืองสิงห์นี้ พบการตั้งถิ่นฐานแต่เดิมแล้ว เพราะพบมนุษย์ยุคสำริดและยุคเหล็กที่นี่ แสดงว่า มีการเข้ามาเกี่ยวข้องในยุคเหล็กอยู่แล้ว และยุคเหล็กเป็นยุคของคนที่เข้าไปเพื่อแสวงหาของป่าและแร่ธาตุ กาญจนบุรีเป็นเมืองที่อุดมไปด้วยของป่าและแร่ธาตุมาก และอีกอย่างหนึ่งเป็นเส้นทางที่ติดต่อไปเมืองเมาะตะมะของมอญก็ได้
มีการเปลี่ยนมากมาย และช่วงเวลานี้เริ่มเปลี่ยนคนกลุ่มใหม่ที่เข้ามาจะเห็นว่า มีเรื่อง ‘พระเจ้าอู่ทอง’ ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหม่ที่เข้ามา แล้วคนเหล่านี้มาจากภายนอก และช่วงนี้แทบทุกแห่ง มีการเปลี่ยนราชวงศ์ ขอมเองได้สลายตัวไปในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ หลังสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ทางเขตเพชรบุรีและราชบุรีก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน เพราะมีตำนานเรื่องท้าวอู่ทองมาจากทางทะเล แล้วคนกลุ่มใหม่เข้ามา มีข้อสันนิษฐานว่าคนกลุ่มนี้มีความสัมพันธ์กับจีนใต้มาก