ผู้เข้าชม
0
30 กรกฎาคม 2567

จากนั้นใช้ลำน้ำกะเปอร์ไปทางต้นน้ำต่อ ผ่านช่องเขาเข้าไปภายในราว ๑๕ กิโลเมตร ไปจนถึงบริเวณ ‘บ้านนา’ ซึ่งชุมชนนี้เป็นชาวบ้านปากหมากทางฝั่งอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานีมาแต่เดิม ใช้วิธีเดินเท้าข้ามเขามาแสวงหาที่ทำกินเป็นพื้นที่เกษตรกรรมในรุ่นพ่อแม่และปู่ย่าตายายเมื่อราว ๖๐-๘๐ ปีที่ผ่านมา

เมื่อเดินเท้าขึ้นเขาไปราว ๓๐ กิโลเมตร จะถึงบริเวณ บ้านในหยาน ซึ่งพบโบราณวัตถุที่สำคัญหลายอย่าง โดยเฉพาะชิ้นส่วนแผ่นหน้าของ ‘มโหระทึก’ แบบเฮเกอร์ I บริเวณลำน้ำแถบนี้หลายสาย คือ คลองปลาด คลองปากทรงและคลองศอก และจุดที่คลองศอกสบกับคลองพะโต๊ะ บริเวณนี้ชาวบ้านเล่าว่าเคยใช้การร่อนแร่ดีบุกในลำน้ำพะโต๊ะและคลองศอก มักพบลูกปัดแก้วขนาดเล็กหรือลูกปัดลมหรือที่เรียกว่าลูกปัดแบบอินโด-แปซิฟิค แต่ชาวบ้านแถบนี้เรียกว่า ‘ลูกปัดตามด’ เพราะมีขนาดเล็กจิ๋วมาก และน่าจะพบลูกปัดชนิดอื่นๆ รวมทั้งโบราณวัตถุที่นอกเหนือจากชิ้นส่วนมโหระทึกแบบเอเกอร์ I เพียงแต่ไม่มีรายงานที่ชัดเจน

จาก ‘บ้านในหยาน’ ล่องลงไปตามลำน้ำพะโต๊ะอีกราว ๓๐-๓๕ กิโลเมตร จะถึง บ้านทอนพงษ์ ซึ่งพบโบราณวัตถุแบบขวานหินมีบ่าขนาดใหญ่จำนวนมาก แต่เท่าที่บันทึกได้มีความยาว ๔๙ และ ๒๕ เซนติเมตร ซึ่งถือว่าขนาดยาวมาก และพบขวานหินขนาดยาวเช่นนี้ตามแหล่งที่มีการทำเหมืองแบบร่อนแร่ดีบุกตามริมลำน้ำในเขตต้นน้ำลำธารหลายแห่งในภาคใต้ เช่นที่เขตอำเภอสิชล ในจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นต้น และทางฝั่งตะวันตกของภาคกลางในเขตสวนผึ้งและจอมบึงของเทือกเขาตะนาวศรี และ บ้านปังหวาน ซึ่งทั้งที่ริมตลิ่งบ้านปังหวานฝั่งตรงข้ามกับวัดปังหวาน และชายตลิ่งเหนือวัดปังหวานใกล้กับตอม่อของสะพานข้ามลำน้ำพะโต๊ะ พบมโหระทึกเต็มใบและชิ้นส่วนของมโหระทึกตามลำดับ

อนึ่ง บ้านปังหวานริมลำน้ำพะโต๊ะนี้ คือสถานที่จอดเรือสัญจรเมื่อยังใช้เรือเมล์เดินทางระหว่าง ‘หลังสวน’ และ ‘พะโต๊ะ’ ในอดีต ที่เลิกไปเมื่อราว พ.ศ. ๒๕๑๖-๒๕๑๗ โดยหน้าวัดปังหวานเป็นที่จอดเรือแวะพักค้างคืนในระยะครึ่งทาง ดังนั้นหากใช้เรือเมล์หรือเรือแจวพายถ่อในอดีตที่ลำน้ำพะโต๊ะมีน้ำมากในฤดูน้ำหลากและในฤดูกาลปกติ ก็จะใช้บริเวณบ้านปังหวานในการจอดพักแรมมาตั้งแต่อดีตทีเดียว

 

ลำน้ำพะโต๊ะหน้าวัดปังหวาน เหนือขึ้นไปคือลำน้ำปังหวานมาสมทบ

บริเวณที่พบมโหระทึกนั้นอยู่ชายตลิ่งฝั่งตรงข้ามกับวัดปังหวาน