โบราณสถานเมืองครุฑนี้ตั้งอยู่ที่บ้านท่าตาเสือ ตำบลเมืองสิงห์ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี หนังสือ ‘เส้นทางเดินทัพ (พม่าตีไทย)’ โดย อาจารย์และนักศึกษา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ให้รายละเอียดเมืองครุฑแบบกระชับรวบรัดไว้ว่า
‘…ถัดจากเมืองสิงห์ไปทางตะวันออก ห่างจากลำน้ำแควน้อยประมาณ ๕ กม. มีเมืองโบราณขนาดเล็กเมืองหนึ่งตั้งอยู่ เป็นเมืองที่มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบ ขนาด ๓๐๐ X ๕๐๐ เมตร สัณฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมแบบไม่สม่ำเสมอ
ชาวบ้านเรียกว่า เมืองครุฑ เพราะกล่าวว่าเคยมีครุฑศิลาทราย อยู่เชิงเขาในเขตเมืองนี้ อันลักษณะการทำครุฑด้วยหินทรายนั้น พบมากในศิลปะสมัยลพบุรี และบริเวณเมืองครุฑ เมืองสิงห์ ก็ตั้งอยู่ไม่ห่างไกลกัน จึงน่าจะเป็นเมืองในยุคเดียวกันได้ เมืองครุฑนี้คงเป็นเมืองหน้าด่าน และอยู่ในเขตปกครองของเมืองสิงห์ก็เป็นได้…’
อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ได้ตั้งข้อสังเกตที่เชื่อมโยงเมืองสิงห์กับเมืองครุฑไว้อย่างน่าสนใจ ใน ‘เที่ยวเส้นทางโบราณ ศึกลาดหญ้า-ปราสาทเมืองสิงห์' ถึงสายสัมพันธ์และความสำคัญของกันและกัน
‘…ความสำคัญของปราสาทเมืองสิงห์ไม่ได้อยู่ที่ปราสาท แต่อยู่ที่ตัวเมือง ซึ่งเป็นเมืองรูปสี่เหลี่ยมตั้งอยู่ริมลำน้ำแควน้อย แล้วกลางเมืองมีปุระหรือปราสาทเมืองสิงห์ ถ้าดูผังให้ดีเมืองนี้จะมีสองชั้น ด้านในที่ล้อมรอบปราสาทนั้น คือ อีกชั้นหนึ่ง สันนิษฐานว่าเป็นชั้นเก่าและการสร้างกำแพงเมืองนี้ได้สร้างในภายหลัง
แต่อย่างไรก็ตาม เป็นเมืองที่มีมาก่อนสมัยอยุธยา หลายคนบอกว่า เมืองนี้สัมพันธ์กับพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ เพราะนี่คือ ‘ศรีชัยยะสิงหปุระ’ ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด เพราะเรื่องของจารึกที่พูดถึงเรื่องสิงหปุระของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ไม่ได้อยู่ที่นี่ อยู่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากกว่า
แล้วเมืองนี้มีลักษณะพิเศษ เพราะไม่เหมือนกับเมืองร่วมสมัย แม้แต่ตัวปราสาทเมืองสิงห์ไม่ใช่การสร้างของขอม เป็นฝีมือของคนในท้องถิ่น ซึ่งการสร้างแบบขอมนั้น จะไม่มีคูน้ำเจ็ดชั้น
ภาพถ่ายทางอากาศโบราณสถานเมืองครุฑ ตั้งอยู่ห่างจากปราสาทเมืองสิงห์
ไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 5 กิโลเมตร
ที่มา: Google Earth
ผมคิดว่า เป็นคติที่อาจจะปรุงแต่งขึ้นในเขตนี้ แต่ลักษณะการทำกำแพงเมืองจะคล้ายคลึงกัน แต่ความคิดที่จะมีคูน้ำเจ็ดชั้นไม่เคยพบ ข้อสังเกตเหล่านี้น่าจะศึกษาว่า ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น อย่างไรก็ตาม จะต้องสัมพันธ์กับพุทธศาสนาแบบมหายานอย่างชัดเจน