เมืองนี้มีแนวเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดไม่ใหญ่โตนักราว ๒๕๐ เมตร x ๑๐๐ เมตร ทั้งบริเวณชายเนินริมลำน้ำด้านล่างและบริเวณภายในเมืองและโดยรอบ พบโบราณวัตถุพวกเครื่องทอง ลูกปัดทองคำและเครื่องทองที่พบกระจายตามในบริเวณเมืองท่าต่างๆ เหล่านี้
บริเวณภูเขาทองและในเมืองที่บางกล้วย พบโบราณวัตถุล้ำค่าหลายชนิด จำนวนมาก และมีการขุดค้นทางโบราณคดีจากสำนักศิลปากรที่ ๑๕ ภูเก็ต นำโดย ร.อ.บุญฤทธิ์ ฉายสุวรรณ ถือว่าเป็นการขุดค้นทางโบราณคดีครั้งแรกทางชายฝั่งอันดามันและมีความสำคัญจนกลายเป็นฐานข้อมูลอ้างอิงของนักวิชาการทั่วโลก นอกจากการอ้างอิงโบราณวัตถุจากแหล่งขุดค้นอย่างเป็นทางการได้แล้ว ยังมีการทำงานเพื่อกำหนดอายุซากเรือจมที่ปากคลองบางกล้วยราวพุทธศตวรรษที่ ๕ และพบหลักฐานสำคัญ เช่น ลูกปัดหินรูปสิงโตหมอบ คล้ายที่พบจากการขุดค้นที่ดอนตาเพชร ตราประทับสลักบนเนื้อหินหัวแหวนรูปบุคคลแบบกรีก-โรมันที่เรียกว่า Intaglio เครื่องประดับแบบแกะสลักบนผิวที่เรียกว่า Cameo ชิ้นส่วนเครื่องประดับทองคํา เศษภาชนะดินเผาที่มีต้นทางจากอินเดียตอนใต้ ภาชนะดินเผาที่มีจารึกอักษรพราหมี
โดยเฉพาะอย่างยิ่งพบตราประทับทองคำมีจารึกอักษรพราหมี ‘พฤหัสปติศรมัน นาวิกะ’ ซึ่งมีข้อสันนิษฐานตัวอักษรที่ควรนำมาเปรียบเทียบเพื่อหาอายุ น่าจะอยู่ในช่วง ‘ราชวงศ์สาตวาหนะ’ ในราวพุทธศตวรรษที่ ๓–๘ ลูกปัดหินกึ่งมีค่าชนิดต่างๆ ซึ่งน่าจะเป็นแหล่งผลิตสินค้าทรงคุณค่าต่างๆ โดยช่างจากแดนไกล และมีการสร้างพื้นที่อยู่อาศัยอย่างถาวรทางทิศใต้ของเมืองที่คลองบางกล้วย ซึ่งห่างไปไม่เกิน ๑.๕ กิโลเมตร คือที่ตั้งของภูเขาสูงที่ถูกเรียกว่า ‘ภูเขาทอง’ พบโบราณวัตถุจำนวนมาก ชาวบ้านค้นหาโบราณวัตถุรอบเชิงเขากันมากในช่วงหนึ่ง ปัจจุบันถูกห้ามปรามจึงลดการค้นหาลง
ตราประทับทองคำมีจารึก 'พฤหัสปติศรมัน นาวิกะ' พบที่ภูเขาทอง ชายฝั่งอันดามัน จังหวัดระนอง
สำหรับซากเรือที่ชายหาดต่อกับปากคลองบางกล้วย ภูเขาทอง ในจังหวัดระนอง โดยมีการตรวจค่าอายุและนำชิ้นส่วนเรือที่เหลือไปอนุรักษ์แล้วเมื่อ พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้ค่าอายุ ๒,๑๒๐ และ ๒,๑๔๐ ปีมาแล้ว หรือในราวพุทธศตวรรษที่ ๕ อาจจะเป็นซากเรือจมที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย
กองโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร วิเคราะห์ว่าเทคนิคการต่อเรือแบบโบราณ ด้วยการเซาะร่องตรงกลางของไม้เปลือกเรือแต่ละแผ่น แล้วสอดเดือยเข้าตรงกลางระหว่างไม้เปลือกเรือสองแผ่น จากนั้นยึดโดยการเจาะรูทะลุลงไประหว่างไม้เปลือกเรือกับตัวเดือย แล้วสอดลูกประสักเพื่อยึดเปลือกเรือทั้งสองเข้าด้วยกัน เทคนิคการต่อเรือดังกล่าวมีพัฒนาการมาจากทวีปยุโรป มักพบในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนช่วงสมัยยุคกลาง หลังจากนั้นได้แพร่หลายจนเป็นที่นิยมไปหลายแห่งรวมทั้งที่พบบริเวณปากคลองบางกล้วยในจังหวัดระนองนี้ด้วย
เส้นทางข้ามคาบสมุทรจาก ‘เมืองที่ริมคลองบางกล้วย’ สามารถใช้เรือเดินทางออกจากปากคลองบางกล้วย แล้วออกทะเลขึ้นเหนือ เพื่อเข้าไปยังปากน้ำกะเปอร์ ในอำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง ระยะทางราว ๒๐ กิโลเมตร หรือจะใช้เส้นทางเดินเท้าก็ได้เช่นกัน แล้วใช้คลองกะเปอร์เดินทางไปต่อราว ๒๐ กิโลเมตร จนถึงแพรกที่เป็นบริเวณคลองกะเปอร์ต่อกับ ‘คลองบางปรุ’ บริเวณริมตลิ่งของ ‘วัดประชาธาราราม’ ซึ่งพบแหล่งโบราณคดีและพบลูกปัดจำนวนมาก
ปากคลองบางกล้วย บริเวณที่พบซากเรือจมอายุกว่าสองพันปีมาแล้ว