ผู้เข้าชม
0
19 สิงหาคม 2567

‘…จากหลักฐานเหล่านี้ประกอบกัน ทำให้มีการพิจารณาในแนวคิดใหม่ว่า โบราณสถานปราสาทเมืองสิงห์ ไม่น่าจะเป็นของร่วมสมัยกับศิลปะขอมแบบบายนในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ แต่น่าจะเป็นการก่อสร้างที่เลียนแบบปราสาทขอมสมัยหลังจากนั้น เมื่ออาณาจักรขอมได้เสื่อมลงอย่างสุดขีดหลังจากสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ (ปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ – ต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙)

เนื่องจากการแตกแยกภายในราชวงศ์ขอม การทรุดโทรมทางเศรษฐกิจ และภัยรุกรานจากภายนอกอาณาจักรขอม ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นศูนย์แห่งจักรวาลของภูมิภาคนี้ได้เสื่อมสลายลง จึงเกิดการเกาะกลุ่มรวมตัวกันใหม่ระหว่างบ้านเมืองในภูมิภาคนี้เป็นแว่นแคว้นต่างๆ

ช่วงเวลานี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการแข่งขันกันสร้างสมอำนาจชอบธรรมของบ้านเมืองเหล่านี้ขึ้นแทนที่ศูนย์เดิมแห่งอาณาจักรขอมกัมพูชา ซึ่งบางแห่งได้พยายามนำคติทางพุทธศาสนาฝ่ายหินยานเข้ามา สร้างเสริม ดังจะเห็นได้จากความพยายามของแคว้นสุโขทัยเมื่อตอนปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท และกรุงศรีอยุธยาที่พยายามสืบทอดคติเก่าบางอย่างจากอาณาจักรขอมกัมพูชา โดยนำมาผสมผสานกลมกลืนกับคติใหม่ทางพุทธศาสนาฝ่ายหินยาน

ในสมัยกรุงศรีอยุธยาไม่ปรากฏชื่อเมืองสิงห์ในทำเนียบศักดินาหัวเมือง คงมีแต่ชื่อเมืองศรีสวัสดิ์ เมืองปากแพรก (กาญจนบุรี) และเมืองไทรโยค รวม ๓ เมืองที่อยู่ในละแวกเดียวกัน คงมีแต่ประวัติคำบอกเล่าที่เป็นปรัมปราคติเกี่ยวข้องกับท้าวอู่ทอง ผู้ทรงหนีภัยจากท้าวเวสสุวรรณโณ ไปเที่ยวสร้างเมืองหลบซ่อนตามที่ต่างๆ แถบนั้น เช่น เมืองกลอนโด เมืองครุฑ และเมืองสิงห์ ซึ่งคำบอกเล่าประเภทนี้ หากจะถือข้อเท็จจริงตามสาระเนื้อหา ก็จะแสดงให้เห็นได้เพียงการไม่มีความต่อเนื่องระหว่างผู้เป็นเจ้าของเรื่องราวปรัมปรากับโบราณสถานแห่งนั้นๆ 

ชื่อเมืองที่เกิดขึ้นมาจึงเป็นการตั้งขึ้นตามประสบการณ์ของผู้เล่า ที่จะอธิบายประวัติความเป็นมาของโบราณสถานแห่งนั้นตามแนวคิดของตน (เรื่องท้าวอู่ทอง) กับปรากฏการณ์ที่โบราณสถานนั้น เช่น ชื่อเมืองกลอนโด ก็เพราะสภาพโบราณสถานเหลือเพียงซากซึ่งผู้เล่าเห็นว่าเป็นกลอนประตูทิ้งอยู่ เมืองครุฑและเมืองสิงห์ก็น่าจะเป็นประสบการณ์ของผู้เล่า ที่พบรูปครุฑและรูปสิงห์ถูกตั้งร้างอยู่ที่โบราณสถานแห่งนั้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงควรจะเป็นชื่อที่เรียกขึ้นมาใหม่ มิใช่ชื่อดั้งเดิมซึ่งสืบทอดมาแต่สมัยโบราณที่เรียกว่า ศรีชัยสิงห์บุรี ดังปรากฏอยู่ในศิลาจารึกปราสาทพระขรรค์แต่อย่างใด นั่นคือ เมืองสิงห์ที่กล่าวถึงนี้มิใช่และไม่เกี่ยวข้องกันเลยทางประวัติศาสตร์กับเมืองศรีชัยสิงห์บุรี

แม้ว่าเรื่องของเมืองสิงห์จะมีแนวคิดทางประวัติศาสตร์แตกต่างกันออกเป็นสองแนว แต่ก็พอจะสรุปให้ทราบถึงอายุความเก่าแก่ของโบราณสถานแห่งนี้ไม่ต่างกันมากนัก กล่าวคือ เมืองสิงห์และซาก      ศาสนสถานต่างๆ ภายในเมืองได้มีการก่อสร้างร่วมสมัยเดียวกัน เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ เป็นเมืองที่สร้างขึ้นตามคติแบบขอมที่นิยมเอาศาสนสถานไว้กลางเมือง นับถือพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน มีความสำคัญในฐานะที่เป็นเมืองปากทางเข้าสู่เส้นทางที่จะติดต่อไปยังดินแดนในประเทศพม่าตอนใต้แถบบริเวณอ่าวเมาะตะมะ หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า เส้นทางด่านพระเจดีย์สามองค์
 

แม่น้ำแควใหญ่มีเมืองศรีสวัสดิ์เป็นเมืองยุทธศาสตร์ ใกล้ๆ มีเมืองไทรโยคและเมืองปากแพรก

ระยะหลังเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนไป น่าจะส่งผลให้เมืองสิงห์หมดอำนาจลง