ผู้เข้าชม
0
19 สิงหาคม 2567

เมื่อกรมศิลปากร ได้จัดตั้งเป็นอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ กาญจนบุรี เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๐ เอกสารนำชมอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ ได้กล่าวถึงตำนานจากคำบอกเล่าของชาวพื้นเมืองที่เมืองครุฑบอกว่า เมืองครุฑเป็นเมืองที่สร้างไม่เสร็จ

‘…จำเดิมมีพระฤาษีตนหนึ่ง อาศัยอยู่ที่เขาสูงงิ้วดำ ด้านทิศเหนือของจังหวัดนครศรีธรรมราช ฤาษีมีลูกศิษย์อยู่สองคน คือ ท้าวอู่ทองกับท้าวเวชสุวรรณโณ ภายในบริเวณอาศรมที่หลังเขาสูงงิ้วดำ มีบ่อทอง บ่อเงิน และบ่อน้ำกรด ซึ่งพระฤาษีห้ามลูกศิษย์ทั้งสองลงไปเล่นบริเวณนั้น

อยู่มาวันหนึ่ง พระฤาษีไม่อยู่ ท้าวอู่ทองกับท้าวเวชสุวรรณโณจึงหนีไปที่บ่อทั้งสาม ทั้งสองจึงเกิดความคิดอยากจะลงไปในบ่อ และตกลงกันว่าถ้าใครลงไปในบ่อ คนที่อยู่ข้างบนต้องฉุดขึ้นมาครั้นตกลงกันเสร็จแล้ว ท้าวอู่ทองจึงลงไปก่อนในบ่อเงิน บ่อทอง

บ่อเงิน บ่อทอง จึงแห้งหมด ท้าวเวชสุวรรณโณจึงฉุดท้าวอู่ทองขึ้นมา คราวนี้ท้าวเวชสุวรรณโณจะต้องลงไปบ้าง ซึ่งเหลือบ่อน้ำกรดเป็นบ่อสุดท้าย และท้าวเวชสุวรรณโณก็ยินยอมลงไปในบ่อน้ำกรดนั้น

เมื่อท้าวเวชสุวรรณโณลงไปแทนที่น้ำกรดจะแห้งเหมือนบ่อเงิน บ่อทอง กลับปรากฏว่าร่างของท้าวเวชสุวรรณโณถูกน้ำกรดกัดจนกร่อนละลาย ท้าวอู่ทองเห็นดังนั้นจึงไม่ยอมฉุดท้าวเวชสุวรรณโณขึ้นมาจากบ่อน้ำกรดนั้น และตนเองก็หลบหนีไป

เมื่อพระฤาษีกลับมาที่พักไม่เห็นลูกศิษย์ทั้งสอง จึงไปดูที่บ่อน้ำทั้งสามเห็นร่างของท้าวเวชสุวรรณโณถูกน้ำกรดกัดกร่อนเหลือเพียงเล็กน้อยจึงช่วยขึ้นมาจากบ่อน้ำกรด แล้วชุบตัวท้าวเวชสุวรรณโณขึ้นมาใหม่

ท้าวเวชสุวรรณโณได้รับการชุบตัวขึ้นมาใหม่ ก็เคียดแค้นท้าวอู่ทองจึงคิดตามล่าล้างแค้นท้าวอู่ทองให้จงได้ ท้าวอู่ทองผู้เป็นฝ่ายหนีเดินทางก้าวหนึ่งเท่ากับนกเขาเหินหนึ่งครั้ง ส่วนท้าวเวชสุวรรณโณเป็นฝ่ายตามล่านั้นเดินทางก้าวหนึ่งเท่ากับนกเขาเดินหนึ่งก้าว

ดังนั้น ท้าวอู่ทองจึงมีเวลาหนีไปได้ไกลและสามารถสร้างเมืองครอบครองได้ แต่ทว่าท้าวเวชสุวรรณโณก็ไม่ละความพยายามที่จะติดตามและมาทันทุกครั้งที่ท้าวอู่ทองหยุดสร้างเมือง ท้าวอู่ทองซึ่งมุ่งหน้ามาทางทิศเหนือ มาสร้างเมืองครั้งแรกมีสระ ๔ มุม แต่สามารถสร้างได้เพียงสระเท่านั้น ยังไม่ทันสร้างเมือง ท้าวเวชสุวรรณโณก็ตามมาทันอีก ท้าวอู่ทองจึงต้องหนีต่อไป มาถึงวังเย็นแต่สร้างเสร็จแค่กลอนประตู ท้าวเวชสุวรรณโณก็ตามมาทันอีก

ท้าวอู่ทองจึงต้องหนีไปสร้างเมืองขึ้นอีกเรียกว่า เมืองครุฑ ท้าวเวชสุวรรณโณก็ตามมาทันอีก ท้าวอู่ทองจึงต้องหนีจากเมืองครุฑมาสร้างเมืองสิงห์ และสามารถสร้างได้สำเร็จ มีการสร้างกำแพงป้องกันอย่างแน่นหนาเพื่อป้องกันท้าวเวชสุวรรณโณและสร้างกำแพงดินล้อมรอบกำแพงเมือง ๗ ชั้น จึงสร้างกำแพงเมือง ซึ่งด้านนอกก่อด้วยศิลาแลง สร้างกำแพงแก้วล้อมรอบตัวปราสาทอีกชั้นหนึ่ง ยากที่ท้าวเวชสุวรรณโณจะต้องเข้าไปข้างในได้… ’

สำหรับการสำรวจและขุดค้นเมืองครุฑ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ กรมศิลปากรได้เริ่มทำการสำรวจเนินดินขนาดไม่ใหญ่นัก บริเวณที่ราบใกล้กับช่องเขาครุฑห่างไปทางตะวันออกจากปราสาทเมืองสิงห์ กลางเมืองโบราณที่มีร่องรอยคูน้ำคันดินสัณฐานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ชาวบ้านในในท้องถิ่นแควน้อยจะเรียกบริเวณนี้ว่า เมืองครุฑ เพราะในสมัยก่อนนั้น เคยมีรูปประติมากรรมครุฑโผล่ขึ้นมาจากเนินดิน 

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดค้นเนินดินใจกลางเมือง ได้พบกับฐานของสิ่งก่อสร้างขนาดไม่ใหญ่นัก รวมทั้งพบชิ้นส่วนที่ประกอบกันเป็นรูปพญาครุฑจมดินอยู่จนเกือบครบทุกชิ้นส่วน เมื่อนำชิ้นส่วนมาประกอบกันและประมาณค่าความสูงของหัวรูปสลักที่หายไปแล้ว พบว่ามีความสูงรวมทั้งตัวเกือบ ๓ เมตร ส่วนเนินดินนั้นเป็นอาคารส่วนฐานอัดดินและผนังแผ่นหลังของรูปครุฑที่ใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุก่อสร้าง ส่วนประกอบอื่น ๆ อย่างเครื่องไม้และภาชนะดินเผา ได้สูญสลายแตกหักไปมากแล้ว 

เมื่อนำผลการวิจัยใน ‘การตีความแนวคิดเรื่องครุฑในพุทธปรัชญาเถรวาท’ ได้ไขให้เห็นภาพถึงการนับถือครุฑว่า เป็นเทวดาชั้นล่างประเภทหนึ่ง อยู่ในวิมานสิมพลี กินนาคเป็นอาหาร เป็นบริวารของท้าววิรุฬหก กำเนิดมาจากมนุษย์ผู้ทำบุญเจือปนด้วยโมหะ หลงผิดว่าการฆ่าสัตว์ไม่บาป