กลุ่มแรกที่เกิดเส้นทางข้ามคาบสมุทรคือจากปากคลองท่าตะเภาริมฝั่งอ่าวไทยถึงเขมายี้ในสหภาพเมียนมา เป็นเส้นทางเริ่มแรก ในฮั่นซูเรียกบริเวณที่เป็นชุมชนเมืองหรือเมืองท่าทางฝั่งอ่าวไทยว่า เซินหลี่ [Shin-li]
กลุ่มที่สองที่เป็นเส้นทางข้ามคาบสมุทรในยุคต่อมาคือเส้นทางบริเวณปากน้ำหลังสวน เขาเสก คลองพะโต๊ะที่ตัดข้ามไปยังเมืองใกล้ชายฝั่งอันดามันที่คลองบางกล้วยในจังหวัดระนอง เมืองบริเวณนี้อยู่ในที่สูงของชายตลิ่ง เป็นเนินสูงจากแนวลำน้ำที่ต่อเนื่องออกไปทะเลได้ บางส่วนก็มีการขุดคูคันสูงป้องกันได้รอบด้าน และไม่ไกลจากปากคลองบางกล้วยที่พบเรือจมที่ปากคลองอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๕ และน่าจะเป็นเรือที่เหลือหลักฐานปรากฏว่ามีอายุเก่าที่สุดลำหนึ่งในเอเชียทีเดียว
เมืองที่คลองบางกล้วย ในจังหวัดระนองอาจจะเรียก ฟู-กัน-ตู-ลู [Fu-kan-tu-lu] ในฮั่นซูได้อย่างยิ่ง ซึ่งการเดินทางที่บันทึกไว้ในฮั่นซูเมื่อ พ.ศ. ๔๓๒ ที่ใช้เวลาเดินทางจากเซินหลี่ซึ่งเป็นการเดินทางทางบกหรือข้ามคาบสมุทรราว ๑๐ วัน บริเวณเมืองที่ริมคลองบางกล้วยก็น่าจะเป็นไปได้มาก เพราะเป็นเมืองขนาดใหญ่ที่สามารถเดินทางข้ามคาบสมุทรและแลกเปลี่ยนทรัพยากรได้หลายทิศทาง เช่นทางต้นน้ำพะโต๊ะและคลองพะโต๊ะสู่ปากน้ำหลังสวนและข้ามสู่คลองปากหมาก ไชยาและท่าชนะ ซึ่งสามารถติดต่อกับชุมชนทรัพยากรภายในที่เทือกเขาหลวงได้ตามทิศทางของแม่น้ำตาปีและแม่น้ำพุมดวง รวมทั้งสามารถเดินทางออกสู่ทะเลในอ่าวไทยที่จะเลียบชายฝั่งสู่ปากน้ำต่างๆ และชุมชนภายในกลุ่มใหญ่ที่บริเวณเขาทะลุจนถึงปากน้ำตะโกและปากน้ำสวีได้อย่างสะดวกเช่นกัน
บรรณานุกรม
1สารัท ชลอสันติสุข, อภิรัฐ เจะเหล่า, ชาคริต สิทธิฤทธิ์. รายงานการสำรวจแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ชุมพร เล่ม ๑, สำนักศิลปากรที่ ๑๔ นครศรีธรรมราช, ๒๕๕๗.
คำสำคัญ :