ผู้เข้าชม
0
11 สิงหาคม 2567

การวิจัยที่สำคัญอีกชุดที่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของพระพุทธรูปหินทรายค่อนข้างละเอียด คือ 'แบบพระพักตร์พระพุทธรูปหินทรายสมัยอยุธยา' บทความในหนังสือ ‘ประทีปวิทรรศน์ : รวมเรื่องโบราณคดีอยุธยา’ ปี พ.ศ. ๒๕๖๕ เป็นหนังสือที่คัดสรรผลงานทางวิชาการอันเป็นผลจากการศึกษา ค้นคว้า และประสบการณ์ความรู้ของนายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร ผู้ที่ได้ปฏิบัติงานในตำแหน่งนักโบราณคดีของกรมศิลปากรในพื้นที่พระนครศรีอยุธยามาอย่างยาวนานกว่า ๑๒ ปี ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ปัจจุบันความรู้เรื่องพระพุทธรูปหินทรายสมัยอยุธยายังไม่แน่ชัด ยังคงเป็นปัญหาถกเถียงกันในหมู่นักวิชาการว่า พระพุทธรูปหินทรายควรจะเป็นงานที่ทำมาก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา หรืองานสมัยอยุธยาตอนต้น หรืองานสมัยอยุธยาตอนปลาย

'…ที่ตั้งของกรุงศรีอยุธยาก่อนเป็นราชธานีเป็นบริเวณที่ศิลปกรรมแบบลพบุรีเคยเจริญรุ่งเรืองมาก่อน ในขณะที่ศิลปะอู่ทองก็กำลังแพร่หลายอยู่ในขณะนั้น ดังนั้นงานประติมากรรมแห่งกรุงศรีอยุธยาระยะแรกจึงได้สืบต่อหรือรับอิทธิพลทางด้านรูปแบบจากศิลปะลพบุรี และศิลปะอู่ทอง ต่อมาศิลปะสุโขทัยซึ่งกำลังเจริญรุ่งเรืองอยู่ทางฝ่ายเหนือก็น่าจะมีอิทธิพลต่อประติมากรรมอยุธยาระยะแรกด้วย…'

สรุปจากการศึกษารูปแบบพระพักตร์พระพุทธรูปหินทรายสมัยอยุธยา สามารถแบ่งออกได้เป็น ๗ กลุ่ม ตามลักษณะอิทธิพล และแรงบันดาลใจจากศิลปกรรมหลายแบบมาผสมผสานกันจนเกิดลักษณะเฉพาะตามความนิยมแต่ละยุคสมัย สามารถสรุปได้ดังนี้

๑. เนื่องจากบริเวณเมืองพระนครศรีอยุธยาก่อนเป็นราชธานีเป็นบริเวณที่ศิลปกรรมแบบลพบุรีเคยเจริญรุ่งเรืองมาก่อน ดังนั้นจึงพบว่าพระพุทธรูปหินทรายในระยะก่อนและแรกสถาปนากรุงศรีอยุธยาได้รับอิทธิพล และแหล่งบันดาลใจจากศิลปะลพบุรีตอนปลาย คือวงพระพักตร์ค่อนข้างกลม พระพักตร์ยิ้ม พระโอษฐ์กว้าง ริมฝีพระโอษฐ์บนเป็นมุมแหลมที่กึ่งกลาง พระมัสสุเป็นเส้นมีอยู่เสมอ พระนาสิกค่อนข้างสั้น พระเนตรเหลือบลง พระขนงเป็นเส้นนูนโค้ง เม็ดพระศกเป็นตุ่มเล็ก มีไรพระศกอยู่เหนือพระนลาฏ ได้แก่ แบบพระพักตร์พระพุทธรูปหินทรายที่จัดไว้เป็นกลุ่ม ก แบบที่ ๑ ซึ่งกำหนดอายุราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐

การพัฒนาของแบบพระพักตร์พระพุทธรูปกลุ่ม ก เกิดจากการทำรายละเอียดภายในวงพระพักตร์ที่ได้รับแหล่งบันดาลใจจากศิลปะสุโขทัยเข้ามาผสมผสานมากบ้างน้อยบ้าง ดังปรากฏอยู่ในแบบพระพักตร์กลุ่ม ก แบบที่ ๒ ซึ่งกำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ในระยะเดียวกันนี้อิทธิพลศิลปะพม่าแบบพุกามได้มีส่วนเป็นแรงบันดาลใจอยู่ด้วย คือ พระพุทธรูปกลุ่ม ก แบบที่ ๓

 

พระพุทธรูปปูนปั้นในจระนำทิศเหนือของปรางค์ประธานวัดพระราม 

พระพักตร์แบบเดียวกับกลุ่ม ก แบบที่ ๒ 

ที่มา: วารสารเมืองโบราณ-ชุดภาพศิลปะอโยธยา