กัปตันเยรินี [Colonel CL.E Gerini] หรือพระสารสาสน์พลขันธ์ ผู้เขียนบทความเกี่ยวกับแผนที่ของนักภูมิศาสตร์ปโตเลมี เขียนบทความอธิบายชื่อสถานที่ซึ่ง ‘Pedro Teixeir’ นักเดินทางเมื่อปลายสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ บันทึกไว้และกล่าวถึงข้อมูลของนักเดินเรือชาวฮอลันดา (ใน Narrative of a Residence in Siam. โดย Frederick A. Neale, เขียนปี พ.ศ. ๒๓๘๕ พิมพ์ ปี พ.ศ. ๒๓๙๕) ว่า น่าจะเป็นเอกสารฉบับท้ายๆ ที่ยังคงเรียกเกาะหน้าอ่าวชุมพรว่า ‘ปูโลบาเดีย’ หรือ ‘เกาะบาเดีย’ แบบนักเดินทางชาวตะวันตกยุคแรกๆ เรียกกัน และกัปตันเยรินีสันนิษฐานว่า ‘บาเดีย’ น่าจะเป็นคำมลายูที่ใช้เรียกชื่อ ‘เกาะมาตรา’ แต่กัปตันเยรินีน่าจะเข้าใจผิด เพราะเกาะมาตราอยู่ถัดจากเกาะเสม็ดไกลจากปากน้ำท่าตะเภาเกินไป และ ‘เกาะบาเดีย’ น่าจะหมายถึง ‘เกาะเสม็ด’ ที่ปากน้ำชุมพรมากกว่า คำบรรยายของ เฟดเดอริก เนลลี [Neale] จึงถูกต้อง
แผนที่ของคณะทูต เซอร์จอห์น ครอว์เฟิร์ด พ.ศ. ๒๓๗๑
ลากเส้นการเดินทางบริเวณปากน้ำกระสู่ปากคลองท่าตะเภา
และบริเวณหน้าปากน้ำเมืองชุมพร ก็มีเกาะใหญ่ คือ เกาะบาเดีย ที่ยังเขียน P.Badia2
คำมลายูปรากฏในเส้นทางการเดินเรือเลียบชายฝั่งมากมาย อาจมีนัยยะที่แสดงถึงความชำนาญของชาวน้ำนักเดินเรือ [Sea Farers] ที่พูดภาษาในตระกูลออสโตรนีเชียน [Austronesian] มีอิทธิพลครอบงำเส้นทางเดินเรือทะเลเลียบชายฝั่งมาก่อนนักเดินเรือสำเภาจากจีนและชาวตะวันตกเนิ่นนาน
ที่ ‘เขาสามแก้ว’ พบการก่อสร้างแนวกำแพงดินเพื่อกันขอบเขตของพื้นที่ พบโบราณวัตถุเกี่ยวกับการผลิตเครื่องทองและลูกปัดจากหินกึ่งมีค่าหลากหลาย โดยเป็นลูกปัดรูปร่างต่างๆ อันเป็นคติความเชื่อของผู้คนจากอนุทวีปในยุคนั้นด้วย ลูกปัดหรือเครื่องประดับที่เกี่ยวเนื่องกับสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนาพบที่เขาสามแก้ว จังหวัดชุมพร บางกล้วย จังหวัดระนอง เขมายี้ในสหภาพเมียนมา และที่ท่าชนะ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เช่น ตรีรัตนะหรือนันทิยาวัตตะ ศรีวัตสะ สวัสติกะ พระจันทร์เสี้ยว กลีบดอกไม้ ดอกบัว สิงห์โต ปลาคู่ สังข์ อังกุศ จามร คทา ดาบวัชระ ตรีศูล ฯลฯ
สัญลักษณ์เหล่านี้โดยพื้นฐานคือมงคล ๘ ประการในทางพุทธศาสนา และเป็นแนวคิดที่แบ่งปันในทางสังคมในยุคสมัยต้นพุทธกาลทั้งพุทธ เชน และพราหมณ์ โดยเกี่ยวข้องกับรูปสัญลักษณ์พื้นฐานที่ถูกใช้มายาวนานก่อนหน้านั้นอันแสดงถึงพระพุทธเจ้าผู้เป็นราชามหา-กษัตริย์แห่งศากยวงศ์และสัญลักษณ์แห่งจักรวาทิน ซึ่งอยู่ในช่วงที่การสร้างพุทธสถานไม่นิยมสร้างรูปเคารพคล้ายมนุษย์ แต่จะใช้ระบบสัญลักษณ์แทน ‘องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า’ ที่ปรากฏเป็นรูปสัญลักษณ์การประดับตกแต่งพระสถูปที่สาญจีและพระสถูปที่ภารหุต ในรัฐมัธยประเทศ อินเดีย ที่สร้างในสมัยพระเจ้าอโศกเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๓ และต่อเนื่องในช่วงราชวงศ์เมารยะ-ศุงคะและราชวงศ์สาต-วาหนะ
รูปสัญลักษณ์เนื่องในความเชื่อทางพุทธศาสนาจากเครื่องทองและลูกปัดที่ทำจากหินกึ่งรัตนชาติต่างๆ
พบจากเขาสามแก้ว จังหวัดชุมพร, ภูเขาทอง จังหวัดระนอง, ท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี