ผู้เข้าชม
0
11 สิงหาคม 2567

พระพุทธรูปนาคปรก ศิลปะเขมรแบบนครวัด พบที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี (ซ้าย)

พระพุทธรูปนาคปรก ศิลปะเขมรแบบบายน พบที่ลพบุรี (ขวา)

เศียรพระพุทธรูป ศิลปะลวะปุระหรือศิลปะลพบุรี

ในการศึกษาพระพุทธรูปเขมรที่พบในประเทศไทยจึงแบ่งตามลักษณะทางศิลปกรรมที่อิงกับศิลปะเขมร ซึ่งโดยรวมแล้ววัฒนธรรมเขมรมีแบบแผนที่แน่นอน เพราะฉะนั้น รูปแบบพระพุทธรูปจึงมีลักษณะเทียบเท่ากับศิลปะเขมรที่พบในดินแดนกัมพูชา จะมีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่แสดงให้เห็นถึงงานช่างท้องถิ่นที่สร้างแทรกเพิ่มเติมเข้าไป พระพุทธรูปศิลปะเขมรที่พบในประเทศไทยแบ่งเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มพระพุทธรูปหินทราย ซึ่งพบตั้งแต่สมัยบาปวนถึงสมัยบายน ส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปนาคปรก ปางสมาธิ กลุ่มที่ ๒ กลุ่มพระพุทธรูปสำริด ส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปยืนทรงเครื่องขนาดเล็ก อยู่ในสมัยนครวัดและบายน 

การกำหนดเรียกศิลปะลพบุรีกับศิลปะเขมรที่พบในภาคอีสานจึงไม่ครอบคลุมพื้นที่ทางวัฒนธรรมอย่างยิ่ง อำนาจทางการเมืองและอิทธิพลทางศิลปะของเขมรได้ลดน้อยลง โดยเฉพาะในภาคกลางของประเทศไทยที่เมืองลพบุรี ในช่วงหลังสมัยบายนและก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี อย่างน้อยเป็นเวลากว่า ๑๐๐ ปี ประกอบกับการได้ค้นพบหลักฐานทางศิลปกรรมที่มีรูปแบบเฉพาะที่เกิดขึ้นอย่างใหม่ แม้ว่าจะอยู่บนพื้นฐานของวัฒนธรรมเขมร เช่น พระปรางค์ประธาน ปรางค์ หมายเลข ๑๖ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี เป็นต้น 

กลุ่มพระพุทธรูปที่มีพัฒนาการต่างจากพระพุทธรูปเขมรแล้ว และได้พบหลักฐานว่าเมืองละโว้เคยส่งทูตไปยังเมืองจีนระหว่าง พ.ศ. ๑๘๓๒ – ๑๘๔๒ แสดงให้เห็นถึงสถานภาพของความเป็นรัฐอิสระด้วย ด้วยเหตุนี้จึงขอเสนอให้มีการเรียกชื่อศิลปะในช่วงนี้ใหม่ เช่น อาจเรียกเป็น ศิลปะลพบุรี (ที่เมืองลพบุรี) และกำหนดระยะเวลาที่อยู่ในช่วงระหว่างการสิ้นสุดอำนาจทางการเมืองของเขมรและก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี (ระหว่างกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ถึงปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๙)

ศิลปะสมัยลพบุรีเกิดขึ้นบริเวณภาคกลางของประเทศไทยที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองลพบุรีและบริเวณใกล้เคียง เป็นระยะเวลาที่วัฒนธรรมเขมรหมดลงไปแล้ว (กลางพุทธศตวรรษที่ ๑๘) จนถึงก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา (ในปี พ.ศ. ๑๘๙๓)

ช่วงเวลานี้ได้มีการสร้างงานศิลปกรรมอยู่อย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งยังมีวิวัฒนาการมาจากอิทธิพลท้องถิ่นเดิม ได้แก่วัฒนธรรมทวารวดี แต่พบอยู่น้อยมาก ส่วนสำคัญได้แก่การสืบต่อมาจากศิลปะเขมรโดยเฉพาะแบบนครวัดและบายน ที่สืบต่อไปจนถึงสมัยอยุธยาตอนต้น และมาปรากฏหลักฐานการเรียกลักษณะของพระพุทธรูปว่า ‘พระลวะปุระ’ แสดงให้เห็นถึงลักษณะเฉพาะที่เกิดขึ้นที่เมืองลพบุรี จึงอาจเรียกศิลปกรรมในช่วงนี้ว่า ศิลปะลวะปุระหรือศิลปะลพบุรีได้