ส่วนเศษภาชนะสำริด เครื่องมือเหล็ก และลูกปัดทั้งหินกึ่งรัตนชาติหรือแก้วต่างๆ น่าจะเป็นสิ่งของมีค่าที่ถูกนำเข้ามากับพ่อค้านักเดินทาง และมีใช้กันมากมายในยุคร่วมสมัยเดียวกับการค้าที่ศูนย์กลางการผลิตและค้าขายแลกเปลี่ยนทางปลายน้ำใกล้ชายฝั่งทะเลที่มีอยู่ทั้งสองฝั่งสมุทร เมื่อตกทอดจนมาถึงมือของผู้ตั้งถิ่นฐานอยู่ภายในแผ่นดินแล้วจึงกลายเป็นสิ่งของสูงค่า [Prestige goods] ที่กลายมาเป็นสิ่งของล้ำค่าสำหรับผู้คนและชุมชนภายในสำหรับพิธีกรรมเกี่ยวกับการตาย [Grave goods]
จาก ‘เขาตาพลาย’ เมื่อล่องน้ำตาม ‘คลองรับร่อ’ จนมาถึงปากแพรกที่ลำน้ำท่าแซะลงมาสมทบ จากนี้ไปคลองรับร่อจึงเรียกว่า ‘คลองท่าตะเภา’ บริเวณใกล้เคียงที่ริมคลองชุมพรทางตะวันตกเฉียงใต้ของเขาสามแก้วมาราว ๖ กิโลเมตรที่ ‘เขาถล่ม’ ก็มีรายงานการพบโบราณวัตถุเกี่ยวเนื่องกับสมัยสุวรรณภูมิในถ้ำ เดินทางตามลำน้ำมาทางตะวันออกเฉียงใต้ราว ๒๕ กิโลเมตร จึงถึง ‘เขาสามแก้ว’
ซึ่งเป็นแนวตะพักลำน้ำริมคลองท่าตะเภา ลักษณะเป็นร่องเนินเขา ๓-๔ ร่อง แต่ละเนินประกอบด้วยหินกรวดแม่น้ำและเนินดินพื้นที่โดยรวมราวๆ ๑ ตารางกิโลเมตรหรือราวๆ ๖๐๐ ไร่ ความสูงที่ชายตลิ่งราว ๑๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล ส่วนความสูงของเนินแต่ร่องเขาราว ๒๐-๔๕ เมตรจากระดับน้ำทะเล และประกอบกิจกรรมแทบจะเต็มพื้นที่ก็ว่าได้ ถือเป็นการเริ่มเกิดขึ้นของนครขนาดใหญ่ทีเดียว เพราะพื้นที่แบบ Citadel เมื่อเทียบกับที่ ‘วารี-บาเตตชวาห์’ ในลุ่มน้ำพรหมบุตรเก่าในบังคลาเทศที่เป็นเมืองท่าแบบเอมโพเรียมีขนาดราว ๐.๔๐ ตารางกิโลเมตร หรือแถบคาบสมุทรยุคต่อมาที่มีขนาดและอาณาบริเวณการทำกิจกรรมในการดำเนินชีวิตเล็กกว่าบริเวณเขาสามแก้วมาก เช่น เมืองรูปสี่เหลี่ยมที่พัทลุงใกล้กับทะเลสาบสงขลาหรือริมคลองจันดีในอำเภอช้างกลาง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นต้น
ประวัติการสำรวจที่เขาสามแก้วมีการทำงานทางโบราณคดีเรื่อยมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๗ จนเมื่อศูนย์วิจัยทางวิทยาศาสตร์แห่งชาติฝรั่งเศส [CNRS], สำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ [EFEO], สำนักวิจัยทางธรณีวิทยาและแร่ธาตุ (ฝรั่งเศส) [BRGM] และคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เริ่มร่วมกันขุดค้นศึกษา (พ.ศ. ๒๕๔๘-๒๕๕๒) มีผลสรุปรายงานการศึกษาฉบับสมบูรณ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๖๐ [Berenice Bellina, An early port-city between the Indian Ocean and the South China Sea. 2017] มีรายละเอียดข้อมูลมากมาย โดยสรุปถึงผลการขุดค้นว่าเศษภาชนะดินเผาที่ขุดค้นได้เป็นเศษภาชนะจากแดนไกลราวๆ ๒๐% นอกนั้นเป็นภาชนะเนื้อดินธรรมดา
คณะวิจัยโดยเฉพาะเบเลนิส เบลิน่า กล่าวเสนอโดยสรุปว่า เขาสามแก้วคือ ‘ต้นทางของเมืองในระดับสากลที่ต่อมาเรียกว่าเป็นเมืองท่า [Port city] ที่ปรากฏอยู่ทางแถบทะเลจีนใต้’ ชุมชนที่เขาสามแก้วเริ่มตั้งถิ่นฐานตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๒–๕ และโดดเด่นอย่างมากในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๕-๗ ในช่วงที่การเดินทางอ้อมแหลมมะละกายังไม่พัฒนาใช้เส้นทางข้ามคาบสมุทร เป็นพื้นที่ผลิตระดับอุตสาหกรรม มีความเป็นชุมชนนานาชาติที่ผสมผสานทั้งช่างฝีมือผู้ชำนาญทั้งศิลปะและเทคโนโลยี มีเครือข่ายเชื่อมโยงในทะเลจีนใต้ การตั้งถิ่นฐานและการสร้างกำแพงล้อมรอบที่เขาสามแก้วทำให้เป็นศูนย์กลางการค้าในระดับนครรัฐแต่จะเป็นนครเดี่ยวหรือมีเครือข่ายก็ยังไม่ชัดเจน ก่อนลดบทบาทลงเมื่อศูนย์กลางไปอยู่แถบท่าชนะและไชยา
เพราะในแผนที่รุ่นเก่า ปากน้ำชุมพรมีเกาะที่ชื่อ ‘บาเดีย’ [Bardia] ถือเป็นหมุดหมายสำคัญในการเดินเรือในฝั่งอ่าวไทยทั้งที่เลียบชายฝั่งสู่แผ่นดินภายในสู่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยาและการเดินทางที่มู่งสู่ปลายแหลมญวนในทะเลจีนใต้ที่สามารถเดินทางสู่เอเชียตะวันออกและหมู่เกาะของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แผนที่สมัยอยุธยาชิ้นหนึ่งเรียกทั้งเกาะทั้งเมืองชุมพรในสมัยอยุธยาว่า ‘บาเดีย’
ต่ำจากบริเวณ ‘เขาสามแก้ว’ มีแพรกน้ำแยกจาก ‘คลองท่าตะเภา’ เรียกว่า ‘คลองพนังตัก’ ไปออกอ่าวขนาดเล็กๆ ที่ชายฝั่งทะเลชุมพร มีระยะทางใกล้กว่าจากแนวคลองท่าตะเภาที่ไปออกปากน้ำท่าตะเภา แต่บริเวณปากน้ำคลองพนังตักไม่มีพื้นที่หลบลมหรือใช้เป็นท่าจอดแวะพักของนักเดินทางทางทะเล ส่วนปากน้ำคลองท่าตะเภามีทั้ง ‘เกาะมัตโพน’ และ ‘เกาะเสม็ด’ ซึ่งอยู่ห่างจากเขาสามแก้วออกไปจนถึงบริเวณปากน้ำราว ๒๓ กิโลเมตรเช่นกัน การตั้งข้อสังเกตจากนักวิชาการทางภูมิศาสตร์มานานแล้วตั้งแต่ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า น่าจะเป็นปากน้ำสำคัญของสถานที่ที่เรียกว่า ‘เกาะบาเดีย’
บริเวณที่คลองท่าตะเภาไหลผ่านเขาสามแก้วและสบกับคลองพนังตัก เส้นทางนี้ออกทะเล
ได้ในระยะสั้นกว่าแต่ด้วยปากน้ำพนังตักอยู่ในอ่าวเล็กและมีชายหาดทรายที่ตื้นมาก
ล้ำน้ำเล็กกว่าโดยธรรมชาติเดิม ต่างจากปากคลองท่าตะเภาที่มีปากน้ำกว้างกว่า