'…พระพุทธรูปที่วัดไลย์ ลพบุรี สมัยลพบุรี ก็เป็นแบบเดียวกับที่พรรณนามาแล้ว เหนือขอบปากมีรอยพรายปากด้วย มีเส้นไรพระศก มีเส้นพระศกเล็ก ข้อสำคัญพระสำริดรุ่นนี้ คือก่อนกรุงศรีอยุธยาเล็กน้อย จะมีเรือนแก้วอยู่ด้านหลัง เช่น พระพุทธชินราช พิษณุโลก วัดจอมคีรีนาคพรต ศิลปะสุโขทัย วัดพิชัยปุรณาราม ที่อุทัยธานี ศิลปะอโยธยา มีเรือนแก้วที่วิหารวัดพระธาตุ นครศรีธรรมราช เป็นต้น
พระพุทธรูปศิลาแบบรุ่นนี้เหมือนกันหมด ลักษณะคล้ายกัน เช่น วัดไลย์เหมือนวัดละมุด ที่วัดละมุดเคราะห์ดีที่เป็นพระทรงเครื่อง มีลวดลายที่ชฎาเทริดและกรองพระศอ ได้เห็นลายจำหลักศิลาเป็นลายอู่ทอง แบบเดียวกับที่ปรากฏบนใบเสมาอู่ทองทุกอย่าง ซึ่งเป็นลายเก่าแก่คนละแบบกับลายอยุธยาอย่างแน่นอน ทั้งหมดนี้ คือพระประธานองค์ใหญ่ ส่วนพระรองลงมา ใหญ่กว่าคนเล็กน้อย หรือขนาดเท่าคนจริง มักจะมีพระพักตร์กลมมน หน้าหวาน บางองค์มีเส้นพรายเหนือขอบริมพระโอษฐ์ องค์พระอ่อนหวานงดงามมาก นิ้วพระหัตถ์เป็นแบบธรรมชาติและงามเป็นลำเทียน ส่วนใหญ่มักหน้าแข้งคม ด้วยอยู่ร่วมสมัยกับศิลปะบายน เพราะสมัยบายนนั้น นิยมแบบแข้งคมมาก
เรื่องพระพุทธรูปสมัยก่อนกรุงศรีอยุธยาเป็นเรื่องใหญ่ เป็นปัญหาสำคัญ ซึ่งนักโบราณคดีรุ่นก่อนไม่เข้าใจ มักจะโยนเข้าไปในหมวดศิลปะอยุธยาเสียทั้งนั้น ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะในสมัยอยุธยานั้น ไม่มีพระพุทธรูปศิลาเลยแม้แต่องค์เดียว ที่ปรากฏให้เห็นนับเป็นร้อยๆ องค์นั้น ก็เป็นการนำเอาของเก่ามาปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งสิ้น'
เมื่อลงไปสู่รายละเอียดถึงวัสดุและเทคนิคในการก่อสร้างพระพุทธรูปศิลา ศิลาที่นิยมนำมาใช้ในการทำพระพุทธรูป ได้แก่ หินทราย เพราะมีเนื้อละเอียด และสลักได้ง่าย รองลงมา ได้แก่ หินชั้นชนิดอื่นๆ หินชนวน และหินแกรนิต ในระยะหลังๆ ยังมีพวกหินสีต่างๆ ตระกูลควอตซ์ เช่น หินสีเขียวที่นำมา สร้างเป็นพระแก้วมรกต รวมทั้งหยกและหินอ่อน เทคนิคการสร้างพระพุทธรูปศิลานำมาใช้ทั้งในงานประติมากรรมนูนสูงและประติมากรรมลอยตัว ในศิลปะทวารวดี และศิลปะขอม ที่พบในประเทศไทย ตั้งแต่หลังพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ลงมา ในสมัยสุโขทัย ล้านนา และอยุธยา นิยมหล่อด้วยทองสำริดเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีการสลักศิลาปนอยู่บ้างในศิลปะอยุธยา และสกุลช่างพะเยาในล้านนา
ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลป์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้วิเคราะห์ถึงพระพุทธรูปสลักจากศิลา ไว้ในหนังสือ 'พระพุทธรูปในประเทศไทย' โดยเน้นว่าหลักฐานการค้นพบพระพุทธรูปที่สันนิษฐานว่าเป็นการสร้างขึ้นในดินแดนไทยระยะแรกลักษณะของพระพุทธรูปมีรูปแบบใกล้เคียงกับศิลปะอมราวดีอย่างมาก ได้แก่ พระพุทธรูปสลักจากศิลาสันนิษฐานว่ามาจากภาคใต้ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
พระพุทธรูปอิทธิพลศิลปะอมราวดี สันนิษฐานว่ามาจากภาคใต้?
ที่มา: พระพุทธรูปในประเทศไทย โดยศาสตราจารย์
ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์
พระพักตร์พระพุทธรูปชำรุด พระกรขวาหักหายไป แต่สิ่งสำคัญคือ พระกรซ้ายที่ยึดชายจีวรและยกขึ้นระดับพระอุระ เป็นลักษณะเฉพาะของพระพุทธรูปอมราวดี รวมทั้งพระพักตร์ค่อนข้างกลม ขมวดพระเกศาใหญ่แบนแนบกับพระเศียร ครองจีวรห่มเฉียง รูปแบบนี้มีลักษณะผสมระหว่างพระพุทธรูปอมราวดีและคุปตะ กำหนดอายุได้ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐ – ๑๑ อาจเป็นพระพุทธรูปรุ่นเก่าสุดที่พบหรือสร้างขึ้นในดินแดนไทย