ผู้เข้าชม
0
11 สิงหาคม 2567


วัดมหาธาตุ จากระบบฐานข้อมูลภาพศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม



เหตุนี้วัดมหาธาตุ ซึ่งสร้างในสมัยอยุธยาตอนต้นจึงเต็มไปด้วยพระศิลา มีทั้งสมัยทวารวดีขนาดใหญ่จำนวนมาก (มีเอกสารอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร) และพระศิลาสมัยอู่ทองหรืออโยธยาจำนวนมาก รวมทั้งเศียรพระพุทธรูปขนาดมหึมาอันตั้งบนวิหารหลวงก็มีหลายสมัย ทั้งทวารวดี          อโยธยา กับลวดลายจำหลักประกอบฐานชุกชีโบราณจำนวนมาก บางชิ้นของลวดลายเอาไปติดกับผนังหุ้มกลองหลังพระประธานก็มี บัดนี้กรมศิลปากรรื้อหมดแล้ว พระศิลาบางองค์ที่หาส่วนประกอบไม่ได้ก็เอาไปยัดไว้ที่ผนังพระวิหารเห็นได้ชัด (กรมศิลปากรก็เอาออกเสียอีก)

ข้าพเจ้ายังยืนยันและกล้าที่จะยืนยันในหลักการนี้ตลอดไป และการที่มีผู้อ้างว่ามีการจำหลักพระศิลาในสมัยพระเจ้าปราสาททอง ด้วยว่าพระเจ้าปราสาททองไปตีเขมร เลยเอาแบบอย่างศิลปะเขมรมานั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องตลกสี่ดาวในวงการศิลปะของโลก เป็นไปได้อย่างไรกัน แบบที่เอามาจากเขมร คือที่นครหลวงก็เอามาแค่หน้าต่างและแบบแผนเป็นชั้นๆ เท่านั้น หรือที่วัดไชยวัฒนาราม ก็เอาแบบหน้าต่างลูกมะหวดหลอกเท่านั้น นอกนั้นเป็นไทยหมด วัดที่สร้างในสมัยปราสาททองก็มีวัดนี้ พระในพระระเบียงเป็นร้อยๆ องค์ล้วนเป็นพระปูนปั้นทั้งสิ้น

การเดาทางโบราณคดี ควรเลิกเดากันส่งเดชกันเสียที เป็นเรื่องน่าละอายที่สุด เป็นการทำลายประวัติศาสตร์อย่างยับเยินที่สุด คนที่เชื่อถือก็ยิ่งเลวหนักขึ้นไปอีก ไม่สนกับที่เกิดมาในสมัยที่วิชาความรู้เจริญรุ่งเรืองอย่างเต็มที่เช่นนี้

การศึกษาพระพุทธรูป เราจะต้องศึกษาถึงวิวัฒนาการทั้งรูปทรงและเทคโนโลยี ทั้งญาณทัศนะ เราได้เห็นพระปูนปั้นที่วัดไชยวัฒนารามจำนวนเป็นร้อยก็เห็นได้ชัดว่าเป็นพระสมัยอยุธยาและได้เห็นวิวัฒนาการต่อเนื่องกัน แต่การที่ไปชี้พระศิลาอันเกลื่อนกลาดในอยุธยาหรือที่ไหนๆ ว่าเป็นสมัยปราสาททอง หรือหลังปราสาททองนั้น เป็นความโง่อันบัดซบที่สุด สมัยนี้ไม่ควรเดาอย่างนั้น ด้วยขึ้นกับเทคโนโลยีและแบบแผนของศิลปะเป็นสำคัญ

เพราะมีตาก็หามีแววไม่ เราต้องรู้ดูให้ออกและให้เข้าใจในศิลปะ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีมาก่อนกรุงศรีอยุธยาทั้งนั้น และมีวิวัฒนาการต่อเนื่องให้เห็นด้วย...'

นอกจากนี้ อาจารย์ น. ณ ปากน้ำ ได้กล่าวถึงศิลปะอู่ทอง หรืออโยธยา หรือศิลปะสมัยก่อนอยุธยาว่า สมัยดังกล่าวนี้ การทำพระพุทธรูปมักทำขนาดใหญ่และจำหลักด้วยศิลา มีพระพุทธลักษณะคือ พระพักตร์กลมรี พระเนตรหรี่ พระขนงโค้งสวย พระโอษฐ์แบนสนิท มีพรายอยู่เหนือริมพระโอษฐ์เบื้องบน เส้นพระศกละเอียดมาก มีเส้นขอบไรพระศกเล็กน้อย พระรัศมี หรือศิรประภาแข็ง บางทีก็ดูเป็นปุ่มเป็นก้อน ลักษณะนี้แตกต่างกับพระพุทธรูปสมัยปราสาททองที่วัดไชยวัฒนารามอย่างมาก  พระพุทธรูปที่มีพรายเหนือปากบน พบแบบนี้ที่อยุธยา ลพบุรี และศิลปะขอม