ผู้เข้าชม
0
11 สิงหาคม 2567

 

วารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๓ เดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน ปี พ.ศ. ๒๕๒๖

ที่มา: Issuu-Muangboran Journal


น. ณ ปากน้ำ  เป็นนามปากกาใช้เขียนเรื่องเกี่ยวกับศิลปะ ประวัติศาสตร์ และโบราณคดีของอาจารย์ประยูร อุลุชาฎะ ยืนยันถึงทฤษฎีเกี่ยวกับพระศิลาที่พบในอยุธยาว่า เป็นพระที่มีมาก่อนสร้างกรุงศรีอยุธยา มิใช่จำหลักขึ้นในสมัยพระเจ้าปราสาททองตามที่กล่าวอ้างกันแต่ประการใด โดยได้เสนอหลักฐานและข้อมูลใหม่ๆ ที่ค้นพบมาสนับสนุนความเชื่อนี้ ในบทความเรื่อง 'พระพุทธรูปสมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา' ในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๓ เดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน ปี พ.ศ. ๒๕๒๖

อาจารย์ น. ณ ปากน้ำ ได้เขียนในบทความไว้ว่า คำว่า ก่อนอยุธยา ประสงค์จะกล่าวถึงพระพุทธรูปรุ่นก่อนกรุงศรีอยุธยาเพียงเล็กน้อย เช่น สมัยอโยธยา สมัยอู่ทอง หรือสุพรรณภูมิ หรือสมัยลพบุรี ซึ่งมีอายุอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ถึง ๑๙ เป็นสำคัญ

อาจารย์ประยูร ย้ำในบทความว่า 'การศึกษาเรื่องพระพุทธรูปนั้น ข้าพเจ้าเคยกล่าวมาหลายครั้งแล้วว่า เราจะดูแต่สิ่งที่มีอยู่อย่างเดียวนั้นมิได้ จะต้องคำนึงถึงเทคโนโลยีและวิชาการในด้านศิลปะร่วมสมัยเป็นเกณฑ์... '

'...ข้าพเจ้ายังขอยืนยันซ้ำอีกว่า ในสมัยอยุธยา ซึ่งเป็นอาณาจักรอันยิ่งใหญ่มีแสนยานุภาพที่เก่งฉกาจสามารถทำลายอาณาจักรนครหลวงของขอมลงได้สำเร็จ สมัยอยุธยานี้ไม่มีพระศิลาเช่นเดียวกัน โดยให้สังเกตจากพระพุทธรูปสำคัญสมัยอยุธยาตอนต้น หรือก่อนอยุธยาเล็กน้อยล้วนเป็นพระโลหะทั้งสิ้น ดังเช่นพระพุทธรูปพนัญเชิง พระมงคลบพิตร พระศรีสรรเพชญ์ พระยืนสำริดหุ้มทองคำขนาดใหญ่ พระประธานวัดธรรมิกราช ฯลฯ ล้วนพระสำริดทั้งสิ้น

วัดสมัยอยุธยาตอนต้น ถ้าพระประธานไม่ทำด้วยสำริดก็จะทำด้วยปูนปั้น เช่น วัดราชบูรณะ วัดมหาธาตุ (ในอุโบสถ) วัดพุทไธสวรรย์ วัดกุฎีทอง วัดวรเชษฐาราม การที่อยุธยาเต็มไปด้วยพระศิลาเกลื่อนกลาดก็เนื่องจาก ณ สถานที่นี้เป็นนครเก่าแก่สืบมาตั้งแต่สมัยทวารวดี อโยธยา และอยุธยา เคยรุ่งโรจน์มาแต่ละสมัยทัดเทียมกัน จึงเหลือพระศิลาจำนวนมาก

ผู้ที่คุ้นเคยกับการเที่ยวพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ถ้าไปสังเกตในห้องศิลปะทวารวดีจะพบว่า พระศิลามหึมาจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งของห้อง ล้วนเอาไปแต่อยุธยาทั้งสิ้น แสดงว่าอยุธยาเป็นแหล่งสำคัญของวัฒนธรรมรุ่นทวารวดีมาก่อน และสำคัญไม่แพ้แห่งใดทั้งสิ้น