ศาสตร์ของหัวนอโม: อำนาจแห่งอักขระ
สิ่งที่ทำให้วัตถุเงินเม็ดกลมๆ ที่เรียกว่าหัวนะโมหรือหัวนอโมมีความศักดิ์สิทธิ์ คือตัวอักษรปัลลวะบนเหรียญ ซึ่งเป็นตัวอักษรที่แพร่เข้ามายังสุวรรณภูมิในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๑ จากอินเดียตอนใต้ พร้อมกลุ่มคนที่ใช้ภาษาสันสกฤตได้แก่ พ่อค้าวานิช นักเดินทาง และพราหม์ผู้นับถือศาสนาฮินดูโดยเฉพาะไศวะนิกาย เป็นที่ยอมรับกันว่าตัวอักษรปัลลวะซึ่งมีวิวัฒนาการมาจากอักษรพราหมีในพุทธศตวรรษที่ ๓ นั้น ถือเป็นอักษรต้นแบบที่พัฒนาเป็นอักษรมอญโบราณ อักษรขอมโบราณ และอักษรไทยในเวลาต่อมา
ต้นตอของคำว่านอโมหรือนะโม มาจากคำว่า “นมะ” หรือ “นมัส” เป็นคำกลางๆ ที่เปล่งออกมาเพื่อแสดงออกถึงความเคารพต่อพระผู้เป็นเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ ก็ได้ที่นับถือ ทั้งในศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ นะโมเป็นพยางค์ศักดิ์สิทธิ์คล้ายกับคำว่า “โอม” ซึ่งเป็นตัวแทนเทพเจ้าฮินดูที่ยิ่งใหญ่ ๓ พระองค์คือ พระศิวะ พระนารายณ์ และพระพรหม ข้อมูลจากบางแหล่งกล่าวว่า หัวนะโมในยุคแรกๆ จะมีรอยบากด้านหลังลักษณะคล้ายโยนี ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของพระอุมา จึงเท่ากับว่ายิ่งเพิ่มความขลังและพลังอำนาจเพราะผนวกเอาความบริบูรณ์ของศักติ-เทวะ [Divine Feminine และ Divine Masculine] หลอมรวมพลังตรงข้ามทั้งหยินและหยางของมหาเทพและเทพนารีเข้าไว้ด้วยกัน ดังคำบูชาว่า โอม นมัส ศิวะ อุมะ
ไม่ว่าจะบูชาเทพทางพราหมณ์หรือพระทางพุทธ ตัวอักษรที่จารเป็นหัวนะโมก็มีรูปแบบเดียวกัน ดังพบหลักฐานการสลักคำกล่าวแสดงความเคารพต่อองค์ศิวะมหาเทพบนแผ่นหินธรรมชาติบริเวณร่องน้ำในหุบเขาช่องคอย ตำบลทุ่งโพธิ์ อำเภอจุฬาภรณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ตัวอย่างอักษร “นะโม” ที่สลักลงบนศิลาจารึกหุบเขาช่องคอยนี้น่าจะเป็นต้นแบบให้หัวนะโมที่ผลิตต่อมาอย่างสืบเนื่องจนถึงปัจจุบัน
จากยันต์แผ่นดินสู่ยันต์ปัจเจก
สิ่งที่ทำให้ข้าพเจ้าสนใจหัวนะโม ไม่ใช่เพราะคุณสมบัติครอบจักรวาล หากแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของคนในสังคมที่มีต่อเครื่องรางของขลังซึ่งสัมพันธ์กับอำนาจศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติต่างหาก
ในระยะแรกหัวนะโมถูกนำมาใช้เป็นสกุลเงินในการแลกเปลี่ยนซื้อขาย เฉกเช่นกับเงินเบี้ยและเงินพดด้วง นอกจากนี้ความเชื่อเรื่องอักขระศักดิ์สิทธิ์บนเหรียญยังส่งผลให้เกิดความนิยมในการฝังหัวนะโมไว้ตามสถานที่สำคัญๆ เช่นซุ้มประตูโบสถ์ กำแพงเมือง บริเวณใบเสมา หรือใส่ไหฝังไว้ในดินเพื่อความเป็นสิริมงคลรวมไปถึงการป้องกันภัยอันตรายต่างๆ คงคล้ายๆ กับปัจจุบันที่เรามักฝังแก้วแหวนเงินทองของมงคลไปพร้อมกับไม้มงคลในพิธียกเสาเอกเพื่อสร้างบ้านสร้างศาลพระภูมิ
กาลล่วงเลยจนถึงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ หลังพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช (จันทรภาณุ) ครองเมืองนครศรีธรรมราชได้ระยะหนึ่ง ก็เกิดโรคห่าระบาด ราษฎรพากันเจ็บป่วยล้มตาย พระองค์จึงทรงอพยพผู้คนย้ายหนีไข้ห่าไปตั้งบ้านเมืองและพระราชวังในหุบเขาร่มรื่นมีลำน้ำสองสายโอบรอบซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอลานสะกา บริเวณนี้พบแผ่นหินขนาดใหญ่หลายแผ่น สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นแท่นประทับที่ทำด้วยหินในเขตพระราชสถาน จากนั้นได้ทรงคิดวิธีรักษาไข้ห่าให้กับผู้คน โดยทรงทำพิธีปลุกเสกหัวนะโมขึ้นด้วยพิธีกรรมแบบพราหมณ์ อัญเชิญเทพเจ้าทั้งสามคือ พระศิวะ พระนารายณ์และพระพรหม มาสถิตย์ในหัวนะโม เป็นอักขระแทนเทพเจ้าทั้งสาม แล้วจึงนำไปหว่านรอบเมืองและสถานที่เกิดโรคระบาด เรื่องการสร้างของขลังนี้ บ้างก็กล่าวว่า มีการนำปรอทมาทำเป็นหัวนะโมแล้วหว่านไปทั่วต้นน้ำ ซึ่งผู้คนใช้ประโยชน์จากสายนำ้นี้ทั้งการหุงต้มและการดื่มกิน ปรากฏว่าไข้ห่าที่ระบาดอยู่นั้นได้หายไปจากนครศรีธรรมราชนับแต่นั้น พระองค์จึงเสด็จกลับเข้าเมืองนครศรีธรรมราชเป็นการถาวร
จากเรื่องเล่าเกี่ยวกับหัวนะโมทั้งจากหลักฐานทางโบราณคดี ตำนาน และความเชื่อที่ส่งทอดสืบๆ กันมา จะเห็นได้ว่าหัวนะโมถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นสิ่งคุ้มครองและปัดเป่าภัยที่เกิดขึ้นในระดับเมืองและชุมชน
การหว่านหัวนะโมลงในแผ่นดิน ฝังตามมุมเมืองทั้งสี่ หรือโปรยลงน้ำ ล้วนเกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะซึ่งเป็นของส่วนรวม การนำหัวนะโมมาใช้เพื่อเป็นเครื่องรางของขลังส่วนบุคคล น่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายหลัง และสะท้อนถึงโลกทัศน์และวิธีคิดต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่แปรเปลี่ยนไปอย่างใหญ่หลวงในสังคมไทย
โลกทัศน์ของผู้คนแต่เดิม แบ่งแยกขอบเขตระหว่างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (sacred) กับสิ่งสาธารณ์ (profane) ออกจากกันอย่างชัดเจน การนำสิ่งที่เป็นตัวแทนความบริสุทธิ์สูงส่งเช่นพระพุทธรูปหรือวัตถุที่มีการสลักด้วยตัวอักษรศักดิ์สิทธิ์เช่นหัวนะโมมาแขวนห้อยคอหรือสัมผัสร่างกายถือเป็นเรื่องต้องห้าม และรังแต่จะนำความอัปมงคลมาสู่ชีวิต การเปลี่ยนแปลงวิธีคิดดังกล่าวเพิ่งเกิดขึ้นในยุคกรุงเทพฯ ราวสมัยรัชกาลที่ ๓-๔ มานี้เอง
ดังจะเห็นได้จากการ “กล้า” ขุดพระพิมพ์ที่บรรจุไว้ในกรุตามวัดเพื่อสืบอายุพระศาสนามาเป็นพระเครื่องห้อยคอในลักษณะเครื่องรางของขลัง หัวนะโมเองก็ผ่านเข้าสู่ยุคที่ถูกปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นเครื่องรางของขลังประจำตัวบุคคลไป ดังจะเห็นได้จากการแปรรูปให้กลายเป็นเครื่องรางกึ่งเครื่องประดับที่มีความทันสมัยและสะดวกในการพกพา เช่นการทำเป็นแหวน สร้อยคอ สร้อยข้อมือ จี้ และกำไล เป็นต้น