ส่วนทางฝั่งบริเวณ ‘เขาเสก’ ที่อยู่ตรงข้ามกับตลาดหลังสวนในอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพรนั้น บริเวณริมฝั่งน้ำส่วนหนึ่งนั้นจะถูกทำเป็นเขื่อนคอนกรีตป้องกันการกัดเซาะชายตลิ่งก็ตาม แต่หากสามารถทำงานทางโบราณคดีได้ในบริเวณที่พบโบราณวัตถุสำคัญ รวมทั้งบริเวณชายตลิ่ง พื้นที่บริเวณเขาเสกน่าจะทำให้เห็นข้อมูลที่มีคุณค่าสูงอีกมาก เพราะมีกลุ่มการศึกษาที่เขาเสกได้เพียงกลุ่มเดียวโดยคณะทำงานของสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ [EFEO]
ส่วนเส้นทางสายที่ ๔ นั้น ตัดข้ามออกจากบริเวณต้นน้ำกะเปอร์ที่บ้านนาไปออกทางต้นน้ำคลองท่าไม้แดงที่ปากหมากในอำเภอไชยา แล้วไปตามลำน้ำผ่านไชยาไปทางบริเวณที่ใกล้กับ ‘เขาประสงค์’ ซึ่งเป็นเทือกเขาหินปูนวางตัวในแนวยาวตามชายฝั่งเหนืออ่าวบ้านดอน ซึ่งเป็นแหล่งการติดต่อค้าขายและชุมชนใหญ่ที่ไชยาและพุนพินในช่วงราวสมัยศรีวิชัยยุคต่อมา ในอำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และเป็นจุดสังเกต [Landmark] สำหรับนักเดินทางทางทะเลมาทุกยุคสมัย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสินค้าทรงคุณค่าที่สำคัญแห่งใหญ่อีกแห่งหนึ่งในบริเวณอ่าวไทย
เครื่องทองต่างๆ ที่ดูจะพบมากในบริเวณทั้งภูเขาทองและเมืองที่ริมคลองบางกล้วยในอำเภอสุขสำราญ เขมายี้ในเขตพม่า และท่าชนะที่เป็นแหล่งผลิตใหญ่ รวมทั้งเขาเสกที่อาจจะเป็นแหล่งผลิตที่สถานีย่อยของทางเขาสามแก้วและทางท่าชนะทำให้เห็นเครือข่ายการเชื่อมโยงสินค้าและงานหัตถศิลป์ระดับเยี่ยมยอด โดยเฉพาะเครื่องทอง เช่นที่เขมายี้ซึ่งพบ ‘เครื่องประดับต่างหูทองคำ’ ขนาดราว ๔.๘ x ๑.๙ เซนติเมตร หนัก ๔๔ กรัม ซึ่งมีเทคนิคการทำและลวดลายที่พบก็ทำให้อายุของการทำทองและช่างทองที่เข้ามาสู่คาบสมุทรแห่งนี้ และน่าจะเก่าไปถึงช่วงราชวงศ์เมารยะ-ศุงคะ ซึ่ง ‘แอนนา เบนเนต’ [Anna Bennett Suvanabhumi ‘Land of Gold’ in Suvanabhumi : The Golden Land, 2019] วิเคราะห์ว่า เป็นการทำด้วยเทคนิคแบบ Granulation คือการติดเม็ดทองกลมๆ เล็กๆ ลงบนผิวแผ่นทองบางๆ โดยใช้แป้งกาวที่ผสมกับทองแดงประสาน เมื่อผ่านความร้อนเนื้อทองแดงก็จะละลายเข้าเป็นเนื้อเดียวกับทองจนแทบไม่เห็นรอยต่อ ลูกทองกลมขนาดเล็กๆ ทำเตรียมไว้ขนาดต่างๆ เพื่อนำมาติดแปะเป็นรูปร่างลวดลาย
เทคนิคอันละเอียดปราณีตนี้เข้าสู่อินเดีย ผ่านทางวัฒนธรรมเปอร์เซียเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๓-๕ ในช่วงราชวงศ์เมารยะ-ศุงคะ (พ.ศ. ๒๒๑-พ.ศ. ๓๕๘, พ.ศ. ๓๕๘-๔๘๐) ที่ต่อเนื่องกับสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งราชวงศ์เมารยะ (พ.ศ. ๒๗๐-พ.ศ. ๓๑๑) โดยนำไปเปรียบเทียบกับภาพสลักแบบนูนต่ำจักรวาทิน [Chakravarti] หรือพระจักรพรรดิราช เช่นที่ภาพนูนต่ำแบบอมราวดีจากอานธรประเทศ งานชิ้นนี้กำหนดอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๕ [Anna Bennett, 2019] นอกจากนี้ ยังพบชิ้นส่วนทองรูปพรรณเทคนิคแบบ Granulation ที่บริเวณเขมายี้ เขาสามแก้ว ภูเขาทอง และท่าชนะ รวมไปถึงแถบคลองท่อม ในจังหวัดกระบี่ที่ผลิตโดยเทคนี้เหล่านี้เช่นเดียวกัน
ที่มาภาพ
1สารัท ชลอสันติสุข, อภิรัฐ เจะเหล่า, ชาคริต สิทธิฤทธิ์. รายงานการสำรวจแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ชุมพร เล่ม ๑, สำนักศิลปากรที่ ๑๔ นครศรีธรรมราช, ๒๕๕๗.
2Embassy to the courts of Siam and Cochin-China.John Walker - John Crawfurd: Journal of an Embassy from the Governor-General of India to the courts of Siam and Cochin China Exhibiting a view of the actual state of these kingdoms London, Henry Colburn, 1828
อ้างอิง
ธวัชชัย ชั้นไพศาลศิลป์. ก่อนประวัติศาสตร์-แรกเริ่มประวัติศาสตร์ ที่ตำบลในวงเหนือ-ในวงใต้ อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง, ๔ มิถุนายน ๒๕๖๔. https://www.facebook.com/nakonsrifad14/posts/pfbid021vuTwdRmsk9X1bvjAsEoW 5iQh7TbCgUgveaFrfjyxFZkEvg4cdMVoVn6G1kcmAhdl)
สารัท ชลอสันติสุข, อภิรัฐ เจะเหล่า และชาคริต สิทธิฤทธิ์. รายงานการสำรวจแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ชุมพร เล่ม ๑, สำนักศิลปากรที่ ๑๔ นครศรีธรรมราช, ๒๕๕๗.
Anna Bennet. Suvanabhumi ‘Land of Gold’ in Suvanabhumi : The Golden Land, First Edition June 2019, Published by GISTDA and BIA.
http://www.bradley.edu/campusorg/psiphi/DS9/ep/503r.html
Bérénice Bellina (ed.). Khao Sam Kaeo. An early port-city between the Indian Ocean and the South China Sea. Mémoires Archéologiques 28 . 2017. Paris: École française d’Extrême- Orient
Sila Tripati and L. N. Raut. Monsoon wind and maritime trade: a case study of historical evidence from Orissa, India Current Science, Vol. 90, No. 6, 25 March 2006.
Thomas Oliver Pryce, Bérénice Bellina. High-tin bronze bowls and copper drums: Non-ferrous archaeometallurgical evidence for Khao Sek’s involvement and role in regional exchange systems, Archaeological Research in Asia, 2017. http://dx.doi.org/10.1016/j.ara.2017.07.002
Wang Gungwu. The Nanhai Trade: A Study of the Early History of Chinese Trade in the South China Sea, Malaysian Branch of the Royal Asiatic Society, 1958. https://www.jstor.org/stable/41503138]
คำสำคัญ :