ผู้เข้าชม
0
25 กรกฎาคม 2567

นอกจากนี้ยังมีการสำรวจโดยนักโบราณคดีจากสำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช พบแหล่งโบราณคดีกว่า ๑๕ แห่งภายในตำบลในวงเหนือและใต้นี้ ซึ่งมีร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์ โดยพบเศษภาชนะ กระดูกสัตว์ และพบลูกปัดอยู่บ้าง อย่างไรก็ตามถ้ำต่างๆ ที่มีการสำรวจเหล่านี้ไม่พบหลักฐานร่องรอยที่มีมากและเด่นชัดว่ามีการใช้พื้นที่ในช่วงเวลายุคสุวรรณภูมิแบบที่ ‘ถ้ำเสือ’ ซึ่งบริเวณที่ถ้ำเสือยังไม่มีการขุดค้นทางโบราณคดีหรือค้นพบว่ามีการฝังศพเพื่ออุทิศสิ่งของเหล่านี้ให้ผู้วายชนม์ในช่วงเวลานี้ แต่เป็นร่องรอยของการอยู่อาศัยของผู้คนที่นำเอาวัตถุทางวัฒนธรรมมาจากแดนไกลทางฝั่งอนุทวีปอินเดีย และทิ้งร่องรอยสำคัญเหล่านี้ไว้ จนทำให้เห็นว่า บริเวณ ‘ถ้ำเสือ’ ที่ตำบลในวง อำเภอละอุ่น เป็นพื้นที่พักแรมหรือเป็นจุดเชื่อมต่อในเส้นทางข้ามคาบสมุทรทางฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทยที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง (ธวัชชัย ชั้นไพศาลศิลป์. ก่อนประวัติศาสตร์-แรกเริ่มประวัติศาสตร์ ที่ตำบลในวงเหนือ-ในวงใต้ อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง, เผยแพร่วันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๖๔, https://url.in.th/WLPiI)

จากถ้ำเสือมีเส้นทางน้ำเดินทางลงสู่นอกหุบเขาอีกราว ๑๖ กิโลเมตร ก็ผ่านสันปันน้ำของบริเวณนี้ถึงบริเวณบ้านทับช้าง ในอำเภอทุ่งตะโก จังหวัดชุมพร เดินทางตามลำน้ำตะโกอีกราว ๒๐ กิโลเมตรก็ถึง ‘ปากน้ำตะโก’ ที่มีถ้ำถ้วยซึ่งน่าจะเป็นที่พักของนักเดินทางก่อนออกสู่ทะเลในระยะราว ๓ กิโลเมตรก็จะถึงปากน้ำ บริเวณนี้เป็นเผิงผาถ้ำหินปูนและพบโบราณวัตถุพวกลูกปัดหินและแก้ว เครื่องถ้วยแบบซ่าหวิงก์-คาลานาย และเศษภาชนะแบบกดจุดประทับ [Rouletted Wares] ซึ่งทั้งแบบภาชนะเต็มใบและแบบเขียนสีแดง จำนวนหนึ่ง บริเวณนี้หากเดินทางเลียบชายหาดไปจะพบว่ามีแหล่งโบราณคดีแบบเพิงผาถ้ำที่ ถ้ำพลาซึ่งการสำรวจในปัจจุบันไม่พบร่องรอยหลักฐานภายในถ้ำหลงเหลืออยู่ ผู้ดูแลกล่าวว่ากระดูกมนุษย์ที่พบในถ้ำนั้นชาวบ้านนำไปลอยอังคารที่ปากน้ำสิ้นแล้ว นอกจากนี้ยังพบแหล่งโบราณคดีที่แนว เขาหลักตำบลครน อำเภอสวี ซึ่งเป็นภูเขาหินปูนแนวยาวตั้งในแนวขวางเหนือใต้ห่างจากอ่าวสวีเก่าชายฝั่งทะเลราว ๓-๔ กิโลเมตร 

และบริเวณ อ่าวคราม ซึ่งอยู่ห่างจาก ปากน้ำตะโก ห่างจากกลุ่มเขาหลักราว ๕-๖ กิโลเมตร และผ่านเขาต่างๆ ที่พบร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีในยุคสุวรรณภูมินี้ไปทางด้านเหนือราว ๒๐ กิโลเมตร แหล่งโบราณคดีอยู่ติดเชิงเขาและเป็นพื้นที่ปิดอยู่ระหว่างหุบเขาคือเขาล้านทางฝั่งตะวันตกและเขาข่อคอที่เป็นแหลมยื่นไปในทะเลโดยมีหินปะการังล้อมรอบ แต่เดิมคือบ้านบ่อคาและบ้านอ่าวค้อก่อนจะเรียกว่าอ่าวคราม บริเวณริมแนวเขาพบร่องรอยแหล่งโบราณคดีแบบที่พักชั่วคราว พบร่องรอยของลูกปัดจำนวนไม่น้อยและโบราณวัตถุประเภทภาชนะดินเผาจำนวนหนึ่ง

และจากลักษณะพื้นที่ซึ่งมีเทือกเขาล้อมรอบอยู่ทุกด้าน ทำให้เห็นว่าพื้นที่นี้ช่องทางเข้าน่าจะเป็นทางทะเลและเป็นสถานที่หลบลมฝนพายุได้อย่างดีมาก ซึ่งลักษณะการเลือกพื้นที่ของชาวประมงที่อ่าวครามนี้ก็ดูจะเป็นเช่นนั้น เพราะเป็นพื้นที่สงบคลื่นลมและมีที่ราบกว้างเชิงเขาเหมาะสำหรับปลูกเพิงหรือกระท่อมพักแรมสำหรับนักเดินเรือเลียบชายฝั่งได้ดี ดังนั้น บริเวณถ้ำปากน้ำ เช่น ที่ถ้ำถ้วย ปากน้ำตะโก และอ่าวคราม ก็น่าจะแสดงถึงเป็นที่พักแรมชั่วคราวของชาวน้ำ-นักเดินทางเลียบชายฝั่งในกลุ่มออสโตรนีเชียน [Sea Farers] เป็นการเดินทางของนักเดินทางและพ่อค้าที่ต้องใช้เครือข่ายระบบการเดินทางจากป่าเขาที่สูง ซึ่งแน่นอนต้องเดินทางด้วยพาหนะเช่น ‘ช้าง’ ซึ่งในบริเวณจังหวัดชุมพรในป่าเขาไปจนถึงจังหวัดระนอง การใช้ ‘ช้าง’ เพื่อเดินทางข้ามคาบสมุทรและเดินทางในป่าเขาริมลำน้ำ นอกจากเรือขุดจากซุงในตามลำน้ำแล้วก็ต้องใช้ ‘ช้าง’ ในการเดินทางเป็นหลัก

 

แหล่งโบราณคดีเชิงเขาที่อ่าวคราม (บน)  ปากน้ำตะโก เห็นทางด้านไกล

ส่วน 'ถ้ำถ้วย' เป็นเพิงผา [shelter] ของเขาลูกที่สอง (ล่าง)


 

และจากบริเวณ ‘ถ้ำถ้วย’ ที่อยู่ทางฝั่งขวาของปากน้ำตะโกและอยู่ห่างจากแนวลำน้ำตะโกราว ๑๐๐-๒๐๐ เมตร จึงเป็นสถานที่หลบลม พายุ ฝนได้เป็นอย่างดี และสามารถค้างแรมเป็นที่พักอยู่ได้เป็นระยะเวลายาวนานต่อวงรอบปี และมีการฝังศพในบริเวณเพิงผาถ้ำ ทั้ง ‘ถ้ำถ้วยและถ้ำพลา’ ซึ่งเป็นเพิงผาถ้ำที่อยู่ห่างออกไปอีกฝั่งของลำน้ำตะโกไปทางเหนือห่างจากแนวถ้ำถ้วยราว ๔.๕-๕ กิโลเมตร นอกจากนี้ ยังมีการพบลูกปัดอีกจำนวนมาก และภาชนะดินเผาลายคดโค้งแบบซ่าหวิงก์-คาลานายรวมทั้งแบบกดจุดแบบอินเดีย ทั้งหมดอาจจะเป็นผู้เดินทางเลียบชายฝั่งที่เป็นชาวน้ำผู้ชำนาญการการเดินทางที่เป็นผู้ประกอบการเดินทางขนส่งสิ่งของล้ำค่าเหล่านี้เลียบชายฝั่ง เพราะจาก ‘ปากน้ำตะโก’ สามารถใช้เรือเดินทางเลียบชายฝั่งขึ้นเหนือหรือลงใต้ได้ทั้งสองทิศทาง ทางเหนือไปยังปากน้ำท่าตะเภาอีกราว ๕๐ กิโลเมตร ถึงปากน้ำท่าตะเภาสู่เขาสามแก้ว ส่วนทางใต้เข้าปากน้ำหลังสวนอีกราว ๑๗ กิโลเมตรก็เดินทางเข้าสู่ลำน้ำหลังสวนสู่เขาเสก หรือจะเดินทางออกไปยังน่านน้ำทะเลนอกเพื่อไปยังทิศทางต่างๆ ที่ต้องการได้ตามเหมาะสม