แหล่งโบราณคดีในกลุ่มดังกล่าวที่อยู่ในพื้นที่อำเภอสวีตามแนวเทือกเขาหินปูนนั้น พบร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีอีกหลายแห่ง มีเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่าซึ่งพบร่องรอยของการฝังศพที่มีการอุทิศสิ่งของให้ศพที่เป็นวัตถุทางวัฒนธรรมเกี่ยวเนื่องกับยุคสมัยสุวรรณภูมิหรือยุคที่มีการใช้เครื่องมือเหล็กแล้ว เช่น ที่เขาค่าย ตำบลเขาค่าย, ถ้ำเสือ ตำบลเขาค่าย, เขาถ้ำห้วยน้ำแดง ตำบลเขาค่าย, เขาถ้ำดิน ตำบลเขาทะลุ, เขาศาลช้างแล่น ตำบลขุนไกร, เขาช่องขุกขัก (เพิงผาฉานทา) ตำบลเขาทะลุ, เพิงผาน้ำลอด เขาน้อย เขาถ้ำช่องเขา เขาจุฬา เขาบ้านกลาง เขาโกรบ เขาแครง ตำบลเขาทะลุ, เขาหลัก ตำบลเขาหลัก, จากนั้นแหล่งโบราณคดีกลุ่มต่อมาที่เป็นถ้ำเขาหินปูนต่างๆ จะอยู่นอกแนวเทือกเขาค่ายและเขาหลักออกมาตามทุ่งทางฝั่งตะวันออกเรื่อยไปถึงชายฝั่งทะเล ถ้ำเขากริม ตำบลน้ำฉา, ถ้ำน้ำลอด ตำบลทุ่งระยะ, เขาตาพล ตำบลทุ่งระยะ, เขานก เขาตาหมื่นนี ตำบลนาสัก, เขาถ้ำตาชี เขากรม บ้านน้ำฉา, ภูเขาทอง ตำบลทุ่งระยะ และกลุ่มเขาหลักที่ใกล้ชายฝั่งทะเลในตำบลครน ทั้งหมดนี้อยู่ในอำเภอสวี จังหวัดชุมพร (สารัท ชลอสันติสุขและคณะ. รายงานการสำรวจแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ชุมพร เล่ม ๑, ๒๕๕๗)
แนวเทือกเขา ‘เขาค่าย-เขาทะลุ’ เป็นแนวเทือกเขาหินปูนที่มีโพรงถ้ำเป็นแนวเขาสำคัญ เป็นต้นทางน้ำที่อุดมสมบูรณ์ มีพื้นที่ราบชายฝั่งน้ำสำหรับเพาะปลูกและตั้งถิ่นฐาน ส่วนการใช้เพิงผาถ้ำ [Shelter] และถ้ำ [Cave] สำหรับใช้เป็นที่ประกอบพิธีกรรม โดยเฉพาะการฝังศพอย่างเห็นได้ชัด จากข้อมูลสัมภาษณ์ผู้ที่ขึ้นไปค้นหาโบราณวัตถุที่ ‘ถ้ำตาหมื่นนี’ ในตำบลนาสัก อำเภอสวี จังหวัดชุมพร กล่าวว่า การฝังศพมีอยู่ด้วยกันสองระยะ โดยการฝังศพระยะแรกจะพบโครงการกระดูก ภาชนะที่อุทิศให้แก่ศพไม่มากนักและโบราณวัตถุที่เป็นเครื่องประดับเช่นลูกปัดทำจากเปลือกหอยมือเสือ เปลือกหอยมวนขนาดเล็ก เปลือกหอยเบี้ยที่ตัดผิวด้านบนและลูกปัดทำจากหินสีส้มรูปแบบแตกต่างไปจากหินคาร์เนเลียนที่พบกันในระยะหลัง และเน้นว่าพบภาชนะแบบหม้อสามขาอยู่ในการฝังศพที่ชั้นดินล่างสุด ชั้นดินด้านบนเป็นการฝังศพที่มีโบราณวัตถุในกลุ่มแบบสุวรรณภูมิอยู่ด้วย เช่น การพบลูกปัดหินกึ่งรัตนชาติ คือ หินอาเกต คาร์เนเลียน ควอตซ์ใสเจียเป็นรูปร่างต่างๆ หินแจสเปอร์สีเขียวและแดงทำเป็นเหลี่ยมมุมแบบ ๒๔ เหลี่ยมมุม ลูกปัดสีเดียวแบบอินโด-แปซิฟิค หัวแหวนที่น่าจะทำจากหินอาเกต เศษเครื่องประดับทองคำ และชิ้นส่วนของเครื่องมือเหล็ก และยังมีกำไลวงใหญ่ขนาดเรียวเล็กที่น่าจะมีส่วนผสมของทองแดงเด่นชัด ที่ไม่เคยพบทั่วๆ ไป นอกจากนี้จากคำบอกเล่ากล่าวว่าแหล่งฝังศพพบบริเวณเพิงผาถ้ำ [Shelter] แต่พื้นที่ด้านบนที่เป็นโพรงถ้ำ [Cave] มีการพบเครื่องประดับพวกลูกปัดต่างๆ และเศษเครื่องทอง โดยไม่พบการฝังศพแต่อย่างใด
ย้อนขึ้นไปที่ ‘ต้นน้ำละอุ่น’ จากบริเวณ ‘ปากแพรก’ นี้เอง หากเดินทางเลียบลำน้ำละอุ่นต่อมาทางใต้ราว ๑๐ กิโลเมตร ก็จะเดินทางสู่พื้นที่เนินราบเป็นรูปร่างคล้ายวงกลม และภายในพื้นที่ ‘ตำบลในวง’ มีภูเขาหินปูนลูกโดดอยู่หลายแห่ง เรียกว่า ตำบลในวงเหนือและตำบลในวงใต้ อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง มีถ้ำที่รู้จักกันดีคือ ‘ถ้ำเสือ’ ซึ่งพบโบราณวัตถุสำคัญ เช่น ภาชนะมีปุ่มด้านใน [Knobbed Ware] ทำจากดินเผาและถูกหินปูนเคลือบภายนอก ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติภูเก็ต ซึ่งเป็นโบราณวัตถุจากแดนไกลที่กรมศิลปากรให้ความสนใจเป็นพิเศษ
นอกจากนี้ยังพบดาบเหล็กขนาดสั้น รูปทรงคล้ายพระขรรค์ ภาชนะแบบขันทำจากสำริดแบบบางน่าจะเป็นลักษณะโลหะประเภทสัดส่วนดีบุกสูง [High Tin Bronze] ลูกปัดทำจากหินกึ่งมีค่าและแก้วรวมทั้งเปลือกหอย ขาภาชนะแบบหม้อสามขา ขวานหินขัดแบบมีบ่าและไม่มีบ่าขนาดใหญ่และสั้น เศษหินสำหรับบดที่เป็นแท่นหินพบได้ทั่วไปในแหล่งโบราณคดีแบบทวารวดี ฯลฯ
แนวเทือกเขาหินปูน 'เขาทะลุ' อำเภอสวี จังหวัดชุมพร (ซ้าย) เขาตาหมื่น ตำบลนาสัก อำเภอสวี จังหวัดชุมพร
อยู่ในพื้นที่เกือบกึ่งกลางระหว่างแนวเขาหินปูนที่เขาทะลุและชายฝั่งทะเล (ขวา)
ลูกปัดหินคาร์เนเลียนและควอตซ์รูปแบบกลมและแบบทุ่น ลูกปัดแก้วสีน้ำเงินและฟ้า (ซ้าย)
ชิ้นส่วนเครื่องทองต่างๆ ที่พบร่วมกับการฝังศพที่เขาตาหมื่นมี (ขวา)