นอกจากนี้โบราณวัตถุที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งทางฝั่งทะเลจีนใต้คือ เครื่องปั้นดินเผาเนื้อดินสมัยราชวงศ์ฮั่น ซึ่งมีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๕-๘ เป็นแบบเนื้อดินค่อนข้างแกร่งและมีตราประทับลวดลายต่างๆ พบที่ภูเขาทอง ปากจั่น เขาสามแก้ว เขาเสก และท่าชนะ ซึ่งในเอกสารของจีนที่เรียกว่า ‘ฮั่นซู’ [Han Shu] หรือ ‘บันทึกราชวงศ์ฮั่น’ เป็นบันทึกฉบับแรกของจีนที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับเรือจีนในช่วงหลังสมัย ‘จักรพรรดิฮั่น หวูตี่’ ไม่นาน ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๕-๘ (การเดินเรืออยู่ในระหว่างช่วง พ.ศ. ๔๓๒ - พ.ศ. ๗๖๓) โดยเรือจีนและชาวเยว่ผู้ชำนาญในการเดินเรือเลียบชายฝั่ง เรือจากราชวงศ์ฮั่นจะออกจากท่าเรือ ‘เมืองซูเหวิน’ [Xuwen] ที่อยู่ปลายสุดของคาบสมุทรเหล่ยโจวในมณฑลกวางตุ้งหรือ ‘เมืองเหอผู่’ [Hepu] ในเขตปกครองตนเองกว่างซี-จ้วง ทางตอนใต้ของจีน ซึ่งล้วนอยู่ในอาณาบริเวณของอ่าวตังเกี๋ย จากเมืองท่าดังกล่าวเดินทางผ่านทางทะเลจีนใต้ เพื่อไปสู่ ‘หวางจื้อ’ [Huang-chih] ซึ่งสันนิษฐานโดยนักวิชาการส่วนใหญ่ว่าน่าจะเป็น ‘เมืองท่ากันจิ’ [Kan-gi] หรือ ‘กันจิปุรัม’ ในรัฐทมิฬนาดู อินเดียใต้ โดยผ่านอ่าวไทย ไปสู่คาบสมุทรสยาม-มลายู
เศษภาชนะดินเผาค่อนข้างแกร่งแบบฮั่น พบเป็นจำนวนมาก ที่แหล่งท่าชนะ อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ในงานศึกษา ‘การค้าทะเลจีนใต้’ [The Nan Hai Trade] โดย 'วัง กงหวู่’ [Wang Gungwu] แม้เขาจะกล่าวว่าไม่สามารถสันนิษฐานชื่อบ้านเมืองตามระยะทางที่เรือเดินทางไปถึงว่าเป็นสถานที่ใดในปัจจุบัน และเขาคิดว่ามันออกจะเป็นเรื่องที่เกินข้อมูลหลักฐานไปมาก จนกว่านักโบราณคดีจะทำงานให้มากขึ้น ซึ่งเป็นการตั้งข้อสังเกตตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๑ ว่า ควรให้ความสำคัญกับบริเวณ ‘คาบสมุทรมลายู’ ที่ระบุอย่างชัดเจนว่ามีการเดินทางบกในระยะเวลาการเดินราว ๑๐ วัน โดยมี เซินหลี่ [Shin-li] อยู่ทางชายฝั่งตะวันออก ซึ่งใช้เวลาเดินทางจากท่าเรือที่อ่าวตังเกี๋ย ๙ เดือน กับ ๒๐ วัน และ ฟู-กัน-ตู-ลู [Fu-kan-tu-lu] อยู่ทางชายฝั่งตะวันตกใช้เวลาเดินทางราว ๒ เดือนจึงจะถึงเมืองท่าชายฝั่งอินเดียใต้ที่กันจี รวมเวลาทั้งสิ้นในการเดินทางจากเมืองท่าในอ่าวตังเกี๋ยถึงอินเดีย ๑๒ เดือนหรือหนึ่งปีพอดี ในช่วงเวลานั้นเป็นยุคสมัยของการเดินทางที่ไม่ใช้การแล่นเรืออ้อมปลายคาบสมุทรเข้าช่องแคบมะละกา [Wang Gungwu. The Nanhai trade : a study of the early history of Chinese., 1956]
ปากคลองท่าตะเภาที่เห็นเกาะมัตโพนด้านใน ซึ่งเวลาน้ำลงแล้วสามารถเดินข้ามได้ เกาะเสม็ดหรือเกาะบาเดียยุคโบราณด้านนอก
บริเวณนี้เป็นจุดจอดพักเรือที่ข้ามอ่าวไทยมาตลอด และอาจเป็นทางเข้าสู่ เซินลี่ [Shin-li] ในจดหมายเหตุฮั่นซู