ผู้เข้าชม
0
25 กรกฎาคม 2567

ส่วนภาชนะแบบสีดำขัดมัน [Black polished wares] ทั้งที่เป็นชิ้นส่วนและเต็มใบ แบบภาชนะทรงกลม แบบมีสัน และแบบหม้อก้นกลมคอและไหล่ขัดมันส่วนตัวภายนอกประดับด้วยลายเชือกทาบ และภาชนะตกแต่งโดยใช้วงล้อกดประทับเป็นรู [Rouletted Wares] การตกแต่งผิวด้วยวิธีใช้วงล้อขนาดเล็กมีปุ่มเคลื่อนตัวทำให้เกิดลายเป็นจุดเล็กๆ รูปทรงต่างๆ เป็นภาชนะสูงค่าน่าจะใช้ในกลุ่มผู้นำหรือชนชั้นสูงทางสังคม พบตามแหล่งโบราณคดีในอินเดียบริเวณบังคลาเทศ เบงกอลตะวันตก โอริสสา มหาราชสถาน อุตตรประเทศ พิหาร อานธรประเทศ ทมิฬนาดูและเกาะศรีลังกา กำหนดอายุไว้ราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๓-๙ 

 

ภาชนะตกแต่งโดยใช้วงล้อกดประทับเป็นรู [Rouletted Wares] ก พบที่เขาสามแก้ว อำเภอเมืองฯ จังหวัดชุมพร

ข-จ พบที่ถ้ำถ้วย ตำบลปากตะโก อำเภอทุ่งตะโก จังหวัดชุมพร

 

นอกจากนี้รูปแบบภาชนะที่สำคัญคือ ภาชนะแบบมีปุ่มด้านใน [Knobbed Wares] พบทั้งแบบดินเผาและสำริด ภาชนะแบบมีปุ่มเช่นนี้แพร่หลายในชุมชนที่นับถือพุทธศาสนาในลุ่มน้ำคงคา ยิ่งเน้นความสัมพันธ์ของพุทธศาสนาและกลุ่มพ่อค้าให้เด่นชัดขึ้นพบที่ ‘ถ้ำเสือ’ อำเภอละอุ่น ‘ภูเขาทอง’ อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนองชายฝั่งอันดามัน และ ‘เขาสามแก้ว’ ชายฝั่งอ่าวไทย จังหวัดชุมพร  

ทั้งภาชนะแบบสีดำขัดมันและภาชนะตกแต่งโดยใช้วงล้อกดประทับเป็นรู กำเนิดแถบลุ่มน้ำคงคาเช่นเดียวกันซึ่งน่าจะนำเข้าหรือผลิตเลียนแบบมาจากทางฝั่งอนุทวีป ภาชนะทั้งสองประเภทนี้พบในอาณาบริเวณคอคอดกระหลายแห่ง ภาชนะทั้งสามชนิดถือว่าเป็นภาชนะรูปแบบพิเศษที่ต้องใช้การทำงานแบบช่างฝีมือขั้นสูงกว่าภาชนะดินเผาท้องถิ่นทั่วไป

 

และสันนิษฐานกันว่าน่าจะใช้สำหรับพิธีกรรมทางพุทธศาสนาด้วย ซึ่งพบในแหล่งโบราณคดีอินเดียที่มีการตั้งมั่นทางพุทธศาสนา ส่วนในบริเวณ ‘คอคอดกระ’ นั้น ก็น่าจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเส้นทางเครือข่ายทางการค้าที่ผ่านทางพ่อค้าทางฝั่งเบงกอลซึ่งนำพามาทั้งวัฒนธรรมทางวัตถุและรูปแบบความเชื่อผ่านทางพ่อค้าและนักบวชที่เดินทางไปมามากกว่า ๕๐๐ ปี ในช่วงต้นพุทธกาล

ส่วนภาชนะรูปแบบกดจุดในลายเส้นคดโค้งหรือซ่าหวิงก์-คาลานาย เครื่องปั้นดินเผาที่สัมพันธ์กับแบบเครือข่ายซ่าหวิงก์-คาลานาย [Sa Huynh-Kalanay-related pottery] นำเข้าหรือผลิตขึ้นใหม่จากวัฒนธรรมของชาวน้ำหรือผู้เดินทางทางทะเลทางฝั่งทะเลจีนใต้ [Sea Farers] พบทั่วไปในพื้นที่ทั้งในบริเวณเขาสามแก้วและถ้ำเพิงผาในเขตพื้นที่ภูเขาหินปูนลูกโดดและเทือกเขาภายใน ภาชนะแบบมีการตกแต่งลวดลายคดโค้งและกดจุดประทับ ซึ่งพบชุดแรกที่เกาะสมุย และพบในแหล่งเขาสามแก้ว เขาเสก ทางฝั่งทะเลอ่าวไทย

 

ชิ้นส่วนก้นภาชนะสำริดแบบมีปุ่มด้านในพบที่บ้านปังหวาน ริมน้ำพะโต๊ะ อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร (ซ้าย)  

ภาชนะดินเผาที่มีปุ่มด้านใน [Knobbed Wares] พบในถ้ำเสือ ตำบลในวง อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง

 

จากการพิจารณาเห็นว่ารูปแบบลวดลายละเอียดมากขึ้น ภาชนะแบบคาลานายในฟิลิปปินส์และภาชนะแบบซ่าหวิ่งก์แล้วเห็นว่ามีรูปแบบลวดลายที่แตกต่างกัน เพราะแบบคาลานายนั้นคลื่นคดโค้งเป็นแบบที่พบในกลุ่มหมู่เกาะฮาวายและโพลีนีเชียนมากกว่า และลวดลายภาชนะที่พบจากเขาสามแก้วและเขาเสกก็ดูจะเป็นเช่นนั้น ซึ่งแตกต่างจากวัฒนธรรมซ่าหวิงก์ของเวียดนามที่มักพบตามลวดลายภาชนะแบบยุคสำริดในแหล่งโบราณคดีภาคกลางของประเทศไทย 

อย่างไรก็ตามภาชนะเช่นนี้รวมทั้งการพบ ‘หินหยกไต้หวัน’ รวมทั้งหินหยกจากหมู่เกาะฟิลิปปินส์ที่ใช้ทำเครื่องประดับชี้ว่ามีพ่อค้านักเดินทางที่พูดภาษาตระกูลออสโตรนีเชียนซึ่งเดินทางไปยังเกาะไต้หวัน ‘ถ้ำตาบน’ และ ‘ปาลาวัน’ ในฟิลิปปินส์ ตอนเหนือของเกาะเบอร์เนียว ตอนใต้ของเวียดนาม คาบสมุทรสยามที่เขาสามแก้ว