อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ได้วิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลในหนังสือ 'กรุงศรีอยุธยาของเรา' ว่า นครอโยธยาหรืออยุธยานี้ เป็นเมืองสำคัญในรัฐละโว้ หรือลวรัฐ ที่ดำรงอยู่มาแต่สมัยทวารวดีในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ แต่ก่อนเมืองละโว้ หรือ ลวปุระ คือเมืองหลวงของรัฐ เป็นศูนย์กลางศิลปวัฒนธรรมที่รุ่งเรืองมาหลายสมัย จนถึงตอนกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๘ จึงค่อยคลายความสำคัญลง ความเจริญเปลี่ยนมาอยู่ที่เมืองอโยธยาแทน เพราะอยู่ในตำแหน่งที่เป็นศูนย์กลางทางคมนาคมและเศรษฐกิจได้ดีกว่า
'…การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้น เมื่อบรรดารัฐและบ้านเมืองในภูมิภาคนี้เปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธเถรวาท ลัทธิลังกาวงศ์ เป็นระบบความเชื่อที่สำคัญ เมืองอโยธยาจึงเหมาะแก่การที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่สัมพันธ์กับพระพุทธศาสนานี้ได้ดี
ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า บรรดาศาสนสถานในลัทธิพุทธศาสนามหายานที่พบที่เมืองละโว้ หรือลพบุรี ได้มีการนำเอารูปแบบศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมแบบลพบุรี อาทิ ปราสาทแบบขอมมาดัดแปลงให้เป็นพระปรางค์และพระเจดีย์ขึ้นรูปหลายแบบเกิดคติการสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ขึ้นเป็นศาสนสถานอย่างที่มีในประเทศลังกาแพร่หลายเช่นเดียวกันกับบรรดารัฐอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียง เช่น เมืองอโยธยามีพระพุทธรูปวัดพนัญเชิง พระประธานวัดธรรมิกราช (เหลือแต่พระเศียร ซึ่งปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อยุธยา) เมืองสุพรรณบุรีมีพระพุทธรูปยืนกลางอรัญญิก และพระพุทธรูปประธานที่วัดศรีชุม เป็นต้น...'
หากสรุปสุดท้ายด้วยการสังเคราะห์ข้อมูลจาก 'ศิลปกรรมแห่งอาณาจักรศรีอยุธยา' ของ อาจารย์ น. ณ ปากน้ำ ซึ่งแสดงถึงความรุ่งโรจน์เรืองรองของพระพุทธศาสนาแบบหินยานลังกาก่อนสุโขทัย
'...อยุธยามิใช่อาณาจักรอันผุดผ่องเกิดขึ้นใหม่ โดยขาดความสัมพันธ์กับอดีตอันลึกล้ำก็หาไม่ แท้จริง ในแอ่งอารยธรรมของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีเนื้อที่ครอบงำไปยังจังหวัดต่างๆ คือ อยุธยา ลพบุรี นครปฐม กาญจนบุรี ราชบุรี และสุพรรณบุรี มีร่องรอยศิลปวัตถุและสิ่งก่อสร้างเก่าแก่ยิ่งกว่าแหล่งใดทั้งหมดในแหลมทอง ซึ่งเป็นที่รู้จักอันดีในนามศิลปะทวารวดี อยุธยามรดกการสืบสายสัมพันธ์จากอดีตไปสู่วัฒนธรรมเก่าแก่อย่างนี้แน่นอน ให้สังเกตว่า มีการผนวกเอาชื่อทวารวดีเข้าไปในชื่อของอาณาจักรอยุธยาด้วย แสดงว่าย่อมสืบเชื้อสายกันมา
ทวารวดีเป็นอาณาจักรเก่าแก่ที่สุดและมีชื่อเสียงโด่งดัง อย่างน้อยก็ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๑ เป็นต้นมา และที่รู้จักกันอย่างดีก็ตอนปรากฏในบันทึกของหลวงจีนเฮี้ยนจัง ซึ่งเป็นสมณะทูตจาริกเข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนาในอินเดีย เมื่อพระพุทธศาสนากำลังรุ่งโรจน์อยู่ในชมพูทวีป อโยธยาสมัยโบราณมีอำนาจอันเกรียงไกรได้ทิ้งร่องรอยศิลปวัตถุไว้เกลื่อนทั่วอยุธยา ตลอดจนภาคกลางของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ละโว้ และสุพรรณบุรี ยังเหลือร่องรอยมากพอๆ กับอยุธยา พงศาวดารของอโยธยาปรากฏบันทึกไว้อย่างละเอียด
ตลอดในพระราชพงศาวดารที่เหลือ ซึ่งจากการสำรวจศิลปวัตถุในอยุธยาอย่างละเอียด ข้าพเจ้าขอยืนยันว่า อโยธยาดูเหมือนจะเจริญยิ่งกว่าอยุธยาเสียอีก หลักฐานของศิลปวัตถุที่เหลืออยู่จำนวนมากมายเป็นประจักษ์พยานเพียงพอว่า อาณาจักรอโยธยาเคยเป็นเพชรน้ำเอกจรัสแสงรุ่งโรจน์ที่สุดในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมกับอาณาจักรพุกามและอาณาจักรขอมที่ขนาบอยู่สองข้าง...
อโยธยา เป็นศูนย์กลางความรุ่งโรจน์ของพระพุทธศาสนาแบบหินยานลังกาก่อนสุโขทัย นับเป็นศตวรรษที่พระพุทธศาสนาจากลังกาได้แผ่อิทธิพลเข้ามายังอโยธยาหลายทางด้วยกัน แห่งแรกผ่านมาทางเมืองมอญคือ เมืองสุธรรมนคร แห่งที่สองขึ้นบกที่เมืองตะนาวศรี...'
งานวิจัย 'การศึกษาวิเคราะห์พุทธศิลป์เชิงสุนทรียศาสตร์ (กรณีเฉพาะพระพุทธรูปสมัยอยุธยา)' โดยผู้วิจัย พระมหาอุดม ปญฺญาโภ (อรรถศาสตร์ศรี) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาปรัชญา ปี พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้อรรถาธิบายถึงพุทธสุนทรียศาสตร์มีเกณฑ์การตัดสินคุณค่าความงามสามารถกระทำได้ในสองระดับก็คือระดับสมมติสัจจะและปรมัตถสัจจะ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ พุทธสุนทรียศาสตร์พิจารณาความงามมี ๒ ระดับ และได้เชื่อมโยงไปถึงคติในการสร้างพระพุทธรูปศิลาก่อนเกิดกรุงศรีอยุธยาว่า