นอกจากนี้ยังพบ ‘ภาชนะแบบสัดส่วนดีบุกสูง’ [High Tin Bronze] ทั้งที่เป็นรูปแบบขันเต็มใบที่มีลวดลายแบบอินเดีย หล่อด้วยโลหะสำริดที่มีส่วนผสมดีบุกในปริมาณสูงโดยเฉลี่ยถึง ๒๓% จึงทำให้สีเนื้อภาชนะคล้ายสีทองและมีความบางเป็นพิเศษ บ่งบอกถึงความเชี่ยวชาญในการหล่อและผลิต เช่นภาชนะสำริดที่การดุนลวดลายที่เป็นรูปร่างคล้ายกับหญิงชาวอินเดียพบในการขุดค้นทางโบราณคดี พบที่ชุมชนทางฝั่งตะวันตกของลุ่มน้ำเจ้าพระยาคือที่ ‘บ้านดอนตาเพชร’ จังหวัดกาญจนบุรี แถบ ‘เขาขวาก’ จังหวัดราชบุรี ‘ถ้ำองบะ’ จังหวัดกาญจนบุรี ในแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์แบบปลายบ้านเชียงที่โคกคอน จังหวัดสกลนคร บ้านเชียงและบ้านนาดี ในจังหวัดอุดรธานี แสดงถึงการกระจายรูปแบบวัตถุทางวัฒนธรรมเข้าสู่พื้นที่ภายในทั้งทางภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ส่วนในอาณาบริเวณคอคอดกระเนื่องจากมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก จึงพบว่ามีการกระจายไปทั่วทั้งในพื้นที่ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิต เช่นที่เขาสามแก้ว เขาเสก ภูเขาทอง ท่าชนะ ก็ยังพบเศษชิ้นส่วนของภาชนะและภาชนะเต็มใบขนาดเล็กในพื้นที่แหล่งฝังศพที่เป็นเพิงผาถ้ำและในถ้ำด้วย
และคณะของศูนย์วิจัยทางวิทยาศาสตร์แห่งชาติฝรั่งเศส [CNRS], สำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ [EFEO] อีกเช่นกันที่นำตัวอย่างของชามสำริดแบบสัดส่วนดีบุกสูงจากเขาเสก ๓ ใบ ไปวิเคราะห์เนื้อของสำริดด้วยวิธีการตรวจสัดส่วนของโลหะทองแดง [Copper-base archaeometallurgical data] พบว่า เป็นชามที่ทำจากแหล่งผลิตในอินเดีย ซึ่งโดยปกติชามสำริดที่มีสัดส่วนดีบุกสูงส่วนใหญ่จะมีธาตุยูเรเนียมปนปกติจะมีแหล่งแร่มาจากทางตะวันออกของอินเดียจากเทือกเขาสิงห์ภูมิในรัฐฌาร์ขันท์ [Singhbhum range of Jharkhan] ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของกัลกัตตา แต่ข้อมูลจากเขาเสกทำให้พวกเขาสรุปว่า อาจจะมีต้นกำเนิดจากแหล่งแร่ทองแดงจากหลายแห่งหรือมีการหลอมภาชนะสำริดแล้วขึ้นรูปใหม่ ตัวอย่างบางชิ้นจากเขาสามแก้วน่าจะทำจากเขตเบงกอลตะวันตกและคล้ายกับพบที่ดอนตาเพชร ที่เป็นการผลิตจากการหล่อ ส่วนตัวอย่างจากเขาเสกอาจมีการผลิตขึ้นใหม่จากงานชิ้นเดิม และการพบเบ้าหลอมสำริดที่เขาสามแก้วที่เขาเสกอยู่ในวงเครือข่ายนั้น อาจแสดงให้เห็นว่ามีการใช้ทองแดงจากเซโปน ในลาวตอนกลางก็อาจเป็นได้ [Thomas Oliver Pryce, Bérénice Bellina. High-tin bronze bowls and copper drums: Non-ferrous archaeometallurgical evidence for Khao Sek's involvement and role in regional exchange systems, 2017]
ชิ้นส่วนภาชนะสำริดแบบสัดส่วนดีบุกสูง (High Tin Bronze) พบที่บ้านปังหวาน ริมน้ำพะโต๊ะ อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร