เศียรพระพุทธรูปสำริด วัดธรรมิกราช พระพักตร์กลุ่ม ข ศิลปะอู่ทอง รุ่นที่ ๒
จากระบบฐานข้อมูลภาพศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม
๒. ในระยะคาบเกี่ยวกับการทำพระพุทธรูปซึ่งมีแบบพระพักตร์กลุ่ม ก ก็มีการทำพระพุทธรูปซึ่งมีพระพักตร์รูปสี่เหลี่ยม คือ พระพุทธรูปกลุ่ม ข ซึ่งเกี่ยวข้องกับอิทธิพลศิลปะแบบอู่ทอง รุ่นที่ ๒ แม้ว่ารายละเอียดบนพระพักตร์ของพระพุทธรูปกลุ่มนี้จะไม่สามารถแยกออกจากพระพักตร์กลุ่ม ก อย่างชัดเจน แต่วงพระพักตร์ซึ่งเป็นสี่เหลี่ยมก็เกี่ยวข้องกับศิลปะอู่ทองยิ่งกว่าศิลปะลพบุรี โดยแบบพระพักตร์กลุ่ม ข กำหนดอายุอยู่ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เช่นกัน
๓. ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ช่างชาวอยุธยาได้พัฒนาพระพุทธรูปที่มีการผสมผสานระหว่างลักษณะสำคัญในศิลปะลพบุรีกับศิลปะสุโขทัย ในปริมาณเท่าๆ กัน คือ พระพุทธรูปซึ่งจัดไว้เป็นกลุ่ม ค ซึ่งสามารถเทียบได้กับพระพุทธรูปแบบอู่ทอง รุ่นที่ ๓ ลักษณะสำคัญคือ พระโอษฐ์ พระมัสสุ และไรพระศก ทำตามแรงบันดาลใจในศิลปะลพบุรี ขณะที่วงพระพักตร์รูปไข่ค่อนข้างยาว พระนาสิก พระขนง และพระรัศมีทำตามแรงบันดาลใจในศิลปะสุโขทัย
๔. ในพุทธศตวรรษเดียวกันมีการทำพระพุทธรูปอีกกลุ่มหนึ่งที่มีอิทธิพลของศิลปะสุโขทัยมากกว่าศิลปะลพบุรีเล็กน้อย คือ พระพุทธรูปกลุ่ม ง ลักษณะวงพระพักตร์และรายละเอียดโดยรวมในพระพักตร์ทำตามแบบพระพุทธรูปกลุ่ม ค มีข้อแตกต่างแต่เพียงพระพักตร์ กลุ่ม ง ไม่ทำไรพระศก คือพยายามทำตามสุนทรียภาพแบบสุโขทัยมากกว่า ต่อจากนี้การสลักพระพุทธรูปหินทรายมีแนวโน้มลดลง
๕. ในระยะต่อมาช่างชาวอยุธยาพยายามสลักพระพุทธรูปหินทรายตามสุนทรียภาพแบบพระพุทธรูปสุโขทัยมากยิ่งกว่าแต่ก่อน โดยทำวงพระพักตร์รูปไข่ เทียบได้ใกล้เคียงกับพระพุทธรูปแบบสุโขทัยหมวดใหญ่ รวมทั้งลักษณะอย่างอื่น ได้แก่ พระโอษฐ์ พระนาสิก พระขนง พระรัศมี ทั้งนี้ยกเว้นพระมัสสุและไรพระศกซึ่งยังคงปรากฏอยู่บ้าง พระพุทธรูปกลุ่มนี้คือ พระพุทธรูปที่จัดไว้เป็นกลุ่ม จ กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ และน่าจะทำต่อเนื่องมาในพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ด้วย
๖. พระพุทธรูปซึ่งทำแบบพระพักตร์รูปไข่คงจะทำสืบต่อมาในพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ด้วย อย่างไรก็ตาม ในระยะนี้ได้พบพระพุทธรูปบางองค์ซึ่งทำพระโอษฐ์ขนาดเล็กและยื่น ริมฝีพระโอษฐ์บางและยิ้ม ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลศิลปะลาวเข้ามาผสมอยู่ด้วย
๗. พระพุทธรูปหินทรายสมัยอยุธยากลุ่มสุดท้าย คงทำกันในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒ พระพุทธรูปกลุ่มนี้มีวงพระพักตร์รูปสี่เหลี่ยมค่อนข้างยาว ส่วนบน (พระนลาฏ) กว้างกว่าส่วนล่าง พระโอษฐ์แม้ว่าจะอมยิ้มเล็กน้อย แต่วงพระพักตร์ก็ดูแข็งกระด้าง บางครั้งก็หันกลับไปทำไรพระศกอีกครั้งหนึ่ง ในสมัยนี้ได้พบพระพุทธรูปหินทรายทรงเครื่องรวมอยู่ด้วย