นอกจากนี้ ‘เดอ ลาชงกิแยร์’ ยังกล่าวถึงซากฐานขนาดใหญ่รูปสี่เหลี่ยมล้อมรอบลานด้านในสองส่วนเขาสันนิษฐานว่าเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งแตกต่างไปจากผังของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ขนาดใหญ่แบบที่พบในกัมพูชา มีกลุ่มอาคารต่างๆ โดยรอบที่เขาทำแผนผังมาด้วย พบแผ่นหินสลักภาพมกรหันหน้าเข้าหากัน ตรงกลางเขาสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นพระวิษณุส่วนด้านบนหายไป ซึ่งคล้ายกับชิ้นที่พบจากสำนักงานที่ทำการเมือง ที่สำคัญคือเขาคิดว่าน่าจะใช้ตกแต่งหน้าจั่วหรือ ‘หน้าบัน’ โดยชิ้นส่วนหินทรายนี้มีรูปแบบคล้ายกับลวดลายที่พบจากโบราณสถานแบบ ‘ถาลาบริวัต’ ที่มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ คนในปัจจุบันมักเรียกเป็น ‘ทับหลัง’ ทั้งที่ลักษณะค่อนข้างเล็กสั้นกว่าการเป็นทับหลัง สังเกตว่ารูปด้านบนถูกตัดออกหรือหายไป ปัจจุบันโบราณวัตถุชิ้นนี้เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
เขายังกล่าวถึงเจดีย์ที่วัดทองทั่วที่อยู่ห่างจากเพนียดไปทางทิศตะวันออกเฉียงหนือราว ๑๐๐ เมตร มีฐานของวิหารที่ยกขึ้นอาจจะเป็นฐานเก่า อย่างไรก็ตาม เขามั่นใจว่าน่าจะเป็นศาสนสถานที่เกี่ยวเนื่องกับที่พบในกัมพูชาและวิเคราะห์ไปว่าเนื่องจากเป็นเขตที่ห่างไกลจึงน่าจะเป็นกลุ่มบ้านเมืองอาณานิคมที่สถาปนาโดยพวกพราหมณ์ฮินดูและถูกผนวกให้กลายเป็นอาณาจักรกัมพูชา โดยใช้คำอธิบายจากข้อความในจารึกนั้น
กล่าวโดยสรุปสิ่งที่นักสำรวจชาวฝรั่งเศสทั้งบาทหลวงชมิตท์ และเดอ ลาชงกิแยร์ พบและบันทึกส่งให้ข้าหลวงมณฑลเทศาภิบาลจันทบุรีและถูกนำไปเก็บรักษาไว้ที่หอวชิรญาณคือ จารึกเพนียด ๑, แผ่นหินสลักรูปหญิง ๕ คน แผ่นหินที่อาจจะเป็นหน้าจั่วหรือหน้าบัน ๒ ชิ้น โดยเป็นชิ้นส่วนด้านขวา ๑ ชิ้น ซึ่งทั้ง ๓ รายการนี้นำไปเก็บรักษาไว้ที่หอวชิรญาณ ส่วนชิ้นเต็มที่วาดลายเส้นไว้คงอยู่ที่วัดทองทั่วและส่วนด้านปลายข้างขวาน่าจะหักหายไป นอกจากนั้นเป็นวัตถุที่ติดอยู่กับโบราณสถานที่กลุ่มเพนียดริมคลองนารายณ์ที่เขาสันนิษฐานว่าน่าจะมีร่องรอยของความเชื่อในพระวิษณุแต่คงสูญหายไปหมดแล้ว
ภาพลายเส้นที่เขาระบุว่าเป็นหน้าบันรูปจั่ว พบที่บริเวณเพนียด มีรูปลวดลายเป็นวงรีตรงกลางระหว่างหัวมกร ๒ ด้าน ด้านในน่าจะเป็นกลุ่มของรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ
ชิ้นส่วนหินทรายนี้มีรูปแบบคล้ายกับลวดลายที่พบจากโบราณสถานแบบ ‘ถาลาบริวัต’ ที่มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒
ที่มา: Le domaine archéologique du Siam, 1909