ความรู้สึกและอารมณ์ของผู้คนที่อยู่ร่วมยุคสมัยสุดท้ายของรถรางที่เปิดให้บริการ นับได้ว่าเป็นขาลงยุคเสื่อมถอยก่อนถึงจุดปิดกิจการ หนังสือ 'รถรางสายรอบเมือง' โดย วิลาศ มณีวัต ปีที่พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๐๓ ซึ่งรวมข้อคิดที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์รายวัน 'สยามรัฐ' มารวมเป็นหนังสือเล่ม ในคำนำ ผู้เขียนคือ วิลาศ ได้สะท้อนให้เห็นยุคสุดท้ายหรือ ๘ ปีก่อนปิดกิจการของรถรางไว้ว่า
' ...ทำไมข้าพเจ้าจึงให้ชื่อหนังสือเล่มนี้ว่า 'รถรางสายรอบเมือง' บางทีต้องตอบกันยาวสักหน่อย ข้าพเจ้าเป็นเด็กที่มาจากต่างจังหวัด เมื่อเป็นเด็กเล็กๆ อยู่ที่บ้านดอน ข้าพเจ้านึกไม่ออกว่ารถรางจะมาวิ่งอยู่กลางถนนได้อย่างไร? คงจะเกะกะการจราจรพิลึก
ครั้งเมื่อข้าพเจ้าได้เข้ามาเรียนหนังสือต่อในกรุงเทพฯ เมื่ออายุสิบสามขวบ ข้าพเจ้าก็ได้เห็นรถรางจริงๆ เป็นครั้งแรก ก่อนหน้านั้นก็เคยได้เห็นเพียงในรูปถ่ายเท่านั้น
รถรางสำหรับข้าพเจ้า จึงเป็นสัญลักษณ์ของเมืองหลวง และเป็นเครื่องเชิดหน้าชูตาของความเจริญ แต่แล้วเมื่อกรุงเทพฯ ยิ่งเจริญก้าวหน้ามากขึ้น รถรางก็กลายเป็นพาหนะที่ล้าสมัยไปเสียแล้ว ทุกคนบ่นว่าช้าไม่ทันใจ ชีวิตปัจจุบันนี้ต้องแข่งขันกันด้วยความรวดเร็ว ชาวเมืองหลวงก็เอาใจใส่กับรถรางน้อยลง
ในหน้าสังคมเราจะพบว่า ท่านผู้นั้นผู้นี้กำลังนั่งรถยนต์ราคาเรือนหมื่นเรือนแสน แต่ข้าพเจ้าก็ยังรักรถรางอยู่นั่นเอง
คนที่นั่งรถรางโดยมากเป็นคนซื่อ เป็นคนใจบุญกลัวบาปกลัวกรรม เป็นคนมีความเอื้อเฟื้อ เป็นคนที่ตักบาตรทุกเช้า ก่อนนอนก็สวดมนต์ เป็นคนที่ไม่เห่อวัฒนธรรมฝรั่งแบบร็อคแอนด์รอล... '
อ้างอิง
Dick van der Spek, Wisarut Bholsithi, and Wally Higgins. Bangkok Tramways Eighty Years 1888 - 1968. Bangkok: White Lotus, 2015.
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ช/จ/5005 ภาพปากคลองบางลำพู.สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภ. WH2171 รูปถ่ายทางอากาศชุด Williams Hunt ภาพบริเวณสะพานนรรัตน์ (2489).
คำสำคัญ :