ตำนานของคนลัวะตั้งถิ่นฐานอยู่บนที่สูง เช่น เชิงเขาและเขาเตี้ยๆ ส่วนของคนไทยตั้งหลักแหล่งในที่ราบลุ่มใกล้แม่น้ำลำน้ำและหนองบึงและคนเหล่านี้ก็เข้ามาพร้อมกันกับความเชื่อในเรื่องของผีบนท้องฟ้า เช่น ผีแถนและพญานาคที่เป็นเจ้าของแผ่นดินและน้ำ
ดังเช่นบริเวณใดที่เป็นหนองบึงที่มีน้ำซับก็จะเชื่อว่าเป็น ‘รูของพญานาค’ เมื่อมาผสมกับความเชื่อทางพุทธศาสนาแล้วก็มักจะสร้างพระมหายอดเจดีย์ ณ ตำแหน่งที่เป็นรูของพญานาค ให้เป็นหลักของบ้านและเมือง ส่วนความเชื่อของคนลัวะไม่มีเรื่องผีบนฟ้า เช่น ผีแถน ผีฟ้า และพญานาค ซึ่งเป็นสัตว์เนรมิต แต่เชื่อในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนดินและสัตว์ธรรมชาติที่เป็นสัตว์กึ่งน้ำกึ่งบก เช่น งู ปลาไหล จระเข้ ตะกวด เหี้ย ที่ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ รวมทั้งความเชื่อในเรื่องผู้หญิงเป็นใหญ่กว่าผู้ชายในสังคม เช่น ผู้ที่เป็นเจ้าเมืองและปกครองคนคือผู้ที่เป็นหญิง ฯลฯ
จากหลักฐานทางโบราณคดีที่ได้ศึกษาและสำรวจมาเกี่ยวกับคนลัวะที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บนที่สูงตามเขาและเนินเขาเหล่านี้พบว่า ระบบความเชื่อของคนลัวะได้พัฒนาขึ้นเป็น ‘ระบบหินตั้ง’ [Megalithic] คือ มีการแยกพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ออกจากพื้นที่ธรรมดาสาธารณ์ด้วยแท่งหิน ก้อนหิน หรือแผ่นหิน รวมทั้งการกำหนดลักษณะภูเขา ต้นไม้ เนินดิน ให้เป็นแหล่งที่สถิตของอำนาจเหนือธรรมชาติ เช่น การกำหนดให้เป็นที่ฝังศพของคนสำคัญหรือไม่ก็เป็นบริเวณที่สัมพันธ์กับการอยู่สถิตของอำนาจเหนือธรรมชาติ และพื้นที่ในการมาประกอบพิธีกรรมร่วมกัน ฯลฯ
การฝังศพของบุคคลสำคัญมักจะถูกกำหนดให้ฝังไว้ในที่สูง ที่ไม่ไกลจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่อาจจะเป็นโขดหิน เพิงหิน หรือกองหินสามก้อนหรือสามเส้าที่อาจจะเป็นก้อนหินธรรมชาติหรือเป็นของที่เคลื่อนย้ายจากที่อื่นมาประดิษฐานไว้
ในขณะที่บริเวณที่ฝังศพจะทำให้เป็นเนินดินล้อมเป็นรูปกลมหรือรูปเหลี่ยม รวมทั้งนำแท่งหินหรือก้อนหินมาปักรอบในระยะที่ห่างกันเป็นสี่ก้อนหรือมากกว่านั้น โดยไม่กำหนดตามจำนวนอย่างใด และบริเวณที่วางศพก็จะมีเครื่องเซ่นศพที่อาจจะเป็นเครื่องประดับ อาวุธและภาชนะดินเผารวมทั้งเครื่องใช้บางอย่าง คนที่อยู่ในที่สูง เช่น พวกลัวะที่กล่าวมานี้ตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่มากมายตามเขาต่างๆ ในเขตแคว้นล้านนา อาจแบ่งออกได้เป็นหลายเผ่า [Tribes] แม้ว่าจะเป็นชาติพันธุ์เดียวกันก็ตาม บางเผ่ามีพัฒนาการทางสังคมและการเมืองใหญ่โตเป็นเมืองเป็นรัฐ [Tribal State] เกิดขึ้นมา ซึ่งแลเห็นได้จากการสร้างเนินดินที่มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบเป็น “เวียง” ขึ้นเพื่อการอยู่อาศัย การจัดการน้ำและการป้องกันการรุกรานของข้าศึกศัตรู….’
สำหรับประวัติศาสตร์และพัฒนาการของชุมชนเมืองเก่าเชียงราย สามารถแบ่งเป็นช่วงดังนี้
ช่วงที่ ๑ การกำเนิดเมืองเชียงรายในยุคราชวงศ์มังราย กับความสำคัญของกลุ่มดอยขนาดเล็กกลางเมือง (ปี พ.ศ. ๑๘๐๕–พ.ศ. ๒๑๐๐ / ๒๙๕ ปี)
ช่วงที่ ๒ การย้ายจุดศูนย์กลางเมืองเชียงรายในยุคราชวงศ์มังราย สู่ตัวเมืองเชียงรายในยุครัตนโกสินทร์ (ปีพ.ศ. ๒๑๐๑-พ.ศ. ๒๔๗๗ / ๓๗๖ ปี)
ช่วงที่ ๓ ย่านภูเขาศักดิ์สิทธิ์ ในช่วงสงครามโลกมหาเอเชียบูรพา สู่การเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบัน (ปีพ.ศ. ๒๔๗๘-ปัจจุบัน )
โบราณสถานในเมืองเชียงราย ทั้งดอยถ้ำพระ พระธาตุดอยจอมทอง วัดพระแก้ว และกำแพงเมือง-คูเมืองเชียงราย มีการใช้งานตลอดระยะเวลาตั้งแต่สมัยล้านนาจนถึงปัจจุบัน จึงถูกดัดแปลงปรับเปลี่ยนตลอดมา จนไม่ทราบลักษณะดั้งเดิมเมื่อสมัยแรกสร้างแล้ว